วันนี้ (10 สิงหาคม 2553) ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รังสิตคลอง 5 จังหวัดปทุมธานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์สุขภาวะทางเพศ (Healthy Sexuality : Story of Love)ว่า พิพิธภัณฑ์สุขภาวะทางเพศที่เปิดในวันนี้ นับเป็นแห่งแรกในเอเชีย เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ ตั้งแต่เรื่องอวัยวะเพศหญิง เพศชาย ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างเพศในทางสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการมีเพศสัมพันธ์กันเสมอไป เช่น ถ้าอยู่ในวัยเรียนจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้วยการช่วยกันเรียน ช่วยกันให้ความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเรียน และหากความเรียกร้องทางร่างกายจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ จะต้องเรียนรู้วิธีการปฏิเสธ เพื่อไม่ทำลายความสัมพันธ์เช่นจะอธิบายว่าการมีเพศสัมพันธ์แล้วตั้งท้อง จะกระทบกับอนาคต และความไม่พร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย อาจกระทบต่อการเรียนต่อไปได้ เมื่อถึงวัยอันสมควรที่จะมีเพศสัมพันธ์ จะต้องมีวิธีการป้องกันการติดเชื้อ และมีวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งความรู้ดังกล่าวจะมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า พิพิธภัณฑ์สุขภาวะทางเพศ นอกจากจะจัดแสดงที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติแล้ว ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2554 จะจัดโครงการพิพิธภัณฑ์สุขภาวะทางเพศสัญจร ไปแสดงยังโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ หากเรามีแหล่งเรียนรู้ลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น ให้ความรู้เรื่องเพศในทิศทางที่ถูกต้องให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาสังคม รวมถึงลดปัญหาการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่นซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย และมาตรการอื่น ๆ นอกจากการให้ความรู้เรื่องเพศด้วย เช่นพ่อแม่จะต้องให้ความสนใจกับลูก ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และเป็นที่ปรึกษาให้กับลูก ซึ่งจะต้องหาความรู้จากสิ่งเหล่านี้ด้วยเพื่อให้คำแนะนำกับเด็กในทางที่ถูกต้อง เพราะตัวเลขเด็กตั้งครรภ์วัยใสพบปีละประมาณ 100,000 คน และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า15ปีตั้งครรภ์และกลายเป็นเด็กหญิงแม่ปีละประมาณ 10,000 คน ซึ่งน่าเป็นห่วงสังคมต้องช่วยกันแก้ปัญหา
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า มีการสำรวจพบว่าเด็กอยากปรึกษาเรื่องเพศกับพ่อแม่ร้อยละ 60 แต่มีการปรึกษาจริงเพียงร้อยละ 10 ซึ่งอาจเกิดจากเด็กไม่กล้าหรือพ่อแม่ไม่อาจให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง หรือให้คำตอบตรงกับคำถามที่ต้องการได้ พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเพศจากพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน เพื่อสามารถให้คำปรึกษากับลูกได้ ช่วยเป็นพระผู้ชี้นำลูกในทางที่ถูกในอนาคตได้ด้วย
“คิดว่าต้องทลายกำแพงที่คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ทำให้ไม่กล้านำมาพูดคุยปรึกษากัน เพราะพื้นความคิดเดิมจะคิดว่าถ้าพูดเรื่องเพศคือเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องเพศเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างเพศสามารถทำได้ และไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์เสมอไป รู้จักตัวเอง การดูแลสุขอนามัยทางเพศ ความแตกต่างระหว่างหญิงชาย การป้องกันไม่ให้เป็นปัญหาในสังคม จึงต้องเร่งทำความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย” นายจุรินทร์กล่าว
********************************* 10 สิงหาคม 2553
View 12
10/08/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ