ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โรงพยาบาลทุกแห่ง จัดเตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สำรองเวชภัณฑ์ ยา เพื่อออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง และเฝ้าระวังโรคติดเชื้อที่มากับน้ำท่วม อาทิไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง แนะประชาชนหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำท่วมขัง หรือเดินลุยน้ำขัง ย่ำโคลน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ หากติดเชื้อโรคฉี่หนูอาจทำให้แท้งลูกได้

           นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนน้ำท่วมจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งฝนจะตกต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ในการเตรียมรับมือของกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลทุกแห่ง จัดเตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และสำรองเวชภัณฑ์ ยา ที่จำเป็นในการดูแลรักษาการเจ็บป่วยเบื้องต้น พร้อมออกให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง และเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม เช่นโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวอาจเกิดระหว่างน้ำท่วมหรือภายหลังน้ำลดแล้ว เพื่อสามารถควบคุมป้องไม่ให้เกิดแพร่ระบาด ลดผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที ในส่วนกลางได้สั่งสำรองยาและเวชภัณฑ์ 500,000 ชุด เพื่อสนับสนุนจังหวัดที่ประสบภัย และสำรองงบกลางไว้อีก 10 ล้านบาท    
           นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ในการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคที่มากับน้ำท่วม ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติ คือกินอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ใช้ช้อนกลางตักอาหารเมื่อกินร่วมวงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งให้ล้างเท้าและเช็ดให้แห้งหลังจากลุยน้ำท่วมขัง และไม่ลงเล่นน้ำท่วมขัง เนื่องจากในน้ำท่วมจะมีสิ่งสกปรกที่มากับน้ำเจือปนจำนวนมาก หากน้ำเข้าตาอาจทำให้ตาแดงได้
          โดยเฉพาะโรคฉี่หนูซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในฉี่ของหนูเป็นส่วนใหญ่ เชื้อโรคมีลักษณะเป็นเกลียว สามารถแพร่ระบาดในแหล่งน้ำได้รวดเร็ว และมีชีวิตอยู่ในน้ำท่วมได้นานไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายคนทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน หรือผ่านทางเยื่อบุตา หรือไชเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วน เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว มีรายงานทางวิชาการว่า ผู้ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะเชื้อนี้สามารถติดต่อไปยังทารกในครรภ์ได้ อาจทำให้แท้งลูกหรือเด็กตายในครรภ์ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากรกอักเสบทำให้ขาดเลือดจากรกไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆในเด็ก ทำให้ทารกเสียชีวิต โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์จะมีอัตราเสียชีวิตค่อนข้างสูง เนื่องจากระบบภูมิต้านทานของทารกในครรภ์ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นหญิงมีครรภ์จึงไม่ควรเดินย่ำน้ำบริเวณที่มีน้ำขังหรือย่ำโคลน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ขอให้ใส่รองเท้าบู๊ท และล้างทำความสะอาดเท้าทันทีหลังขึ้นจากน้ำ พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขอให้ช่วยกันทำแนวทางเดินให้สูงกว่าปกติเพื่อลดการสัมผัสน้ำ  นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า อาการของโรคฉี่หนูที่พบได้บ่อยคือมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่บริเวณน่อง จะพบมีอาการปวดได้ประมาณร้อยละ 40-100 หากประชาชนมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้เช่นตับวาย ไตวาย โรคนี้มียารักษาหาย แต่สามารถติดเชื้อและป่วยซ้ำอีกได้ ในปี 2553 นี้ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 1,968 รายมีกระจายทุกภาค เสียชีวิต 20 ราย  
**************   11 สิงหาคม 2553    


   
   


View 9    11/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ