“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
สาธารณสุข เผยขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกเลิกระดับการเตือนภัยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระดับ 6 แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่สำหรับไทยยังคงต้องระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง และให้การรักษาอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งส่งเสริมคนไทยคงมาตรการป้องกันโดยยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 2.1 ล้านคนให้ครอบคลุม ครบถ้วน
จากการที่แพทย์หญิง มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้แถลงข่าวจากฮ่องกง เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย วานนี้ (10 สิงหาคม 2553) แจ้งให้ประเทศทั่วโลกทราบว่า ได้ยุติการเตือนภัยฉุกเฉินจากการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระดับ 6 แล้ว โดยเห็นด้วยกับข้อแนะนำของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินที่องค์การอนามัยโลกแต่งตั้ง ซึ่งได้ประชุมในวันเดียวกัน และประเมินสถานการณ์จากรายงานการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเสนอแนะให้ยุติการเตือนภัยจากการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ 2009 ระดับ6 ซึ่งคาดว่าเชื้อนี้จะยังคงแพร่ระบาดในลักษณะไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลติดต่อกันอีกหลายปี และแพทย์หญิงมากาเร็ต ชานได้กล่าวอีกว่า ไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวร้สไข้หวัดใหญ่ 2009 รวมทั้งปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อที่ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 มีความปลอดภัยสูงนั้น
บ่ายวันนี้ (11 สิงหาคม 2553) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยขณะนี้ จะยึดการปฏิบัติตามประกาศขององค์การอนามัยโลก แม้ว่าจะมีการยกเลิกการเตือนภัยแล้วก็ตาม แต่กระทรวงสาธารณสุขไทยจะยังคงมาตรการที่สำคัญ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ การเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากประชาชนไทยบางส่วนยังไม่มีภูมิต้านทานเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 และในช่วงนี้มีฝนตกชุกเกือบทั้งประเทศ เป็นช่วงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล รวมทั้งไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสายพันธุ์อื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หากป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้สงสัยด้วยว่าอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ต้องรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
มาตรการที่ 2 คือการรักษาผู้ป่วยอย่างทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิต โดยขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ไว้อย่างเพียงพอ มาตรการที่ 3 คือการป้องกันการเจ็บป่วยทั้งในระดับบุคคล และระดับกลุ่ม โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร โรงงาน สถานประกอบการต่างๆ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ โดยยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด ไอจาม
พร้อมทั้งเร่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดรวม ป้องกันได้ทั้งเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค โดยได้สั่งซื้อจำนวน 2.1 ล้านโด๊ส ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงฟรี ดังนี้ 1. หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 7 เดือนขึ้นไป 2. คนอ้วนน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป 3. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้4.ผู้ที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่โรคปอดอุดกั้น หอบหืดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งอยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด เบาหวานธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันผิดปกติ 5. ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 6. เด็กอายุ6 เดือน - 2 ปี 7. บุคลากรสาธารณสุขและผู้มีหน้าที่กำจัดซากสัตว์ปีกโดยรับบริการฉีดฟรีที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน
************** 11 สิงหาคม 2553