สาธารณสุขเผยผลการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 3 ปี พบเจ้าหน้าที่ทุจริตถูกลงโทษไปแล้ว 38คน โดยไล่ออก 31 คน ปลดออก 7 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข ค่าเสียหายรวมกว่า 33ล้านบาท การทุจริตที่พบบ่อยคือ เซ็นเช็คและใบถอนเงิน ผิดระเบียบ เร่งวางมาตรการป้องกัน เน้นให้เจ้าหน้าที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต และช่วยสอดส่อง แจ้งเบาะแส

วันนี้ ( 17 สิงหาคม 2553) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายภาคประชาชนหรือเอกชนประมาณ 200 คน   เพื่อให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเกิดทัศนคติในการเป็นผู้สอดส่อง เฝ้าระวังการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นวิทยากร
          นายแพทย์ทนงสรรค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นอย่างมาก ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดทั่วประเทศที่มี 2 แสนกว่าคน ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต    ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ซึ่งขณะนี้ประชาชนทุกคน มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของทางราชการ หรือตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
สำหรับผลการปราบปรามการทุจริตของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน่วยงานกระจายทุกจังหวัด ในปี 2550-2552 มีผู้ถูกลงโทษทั้งหมด 38 คน เป็นหญิง 20 คน ชาย 18 คน   หน่วยงานที่เกิดการทุจริตมากที่สุดคือ สถานีอนามัย รองลงมาคือ โรงพยาบาลชุมชน การทุจริตที่พบบ่อยๆ ได้แก่เรื่อง เช็ค ใบถอนเงินธนาคาร มีการเซ็นลอย มีการแก้ไขจำนวนเงิน เติมจำนวนเงินเพิ่มภายหลัง แก้ไขผู้รับเงิน ปลอมลายมือผู้มีอำนาจลงนาม หรือออกเช็คโดยไม่ได้ตกลงกับธนาคาร การถอนเงินราชการนำไปใช้ส่วนตัว   เขียนใบเสร็จตัวจริงและสำเนาไม่ตรงกันแล้วยักยอกเงิน รวมทั้งมีการแก้ไขข้อมูลเงินเดือน เป็นต้น การลงโทษยึดตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2551 โดยไล่ออก 31 คน ปลดออก 7 คน มูลค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 33,862,389บาท
แยกเป็นรายปีดังนี้ ปี 2550 ถูกลงโทษ 14 คน ค่าเสียหาย 24,441,612บาท ปี 2551ลงโทษ 16 คน ค่าเสียหาย 2,029393 บาท ปี 2552ลงโทษ 8 คน ค่าเสียหาย 7,391,384 บาท ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข รองลงมาเป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี  
          ทางด้านนายเรืองรัตน์ บัวสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดช่องทางรับแจ้งเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแสการทุจริต หรือแจ้งพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข   ได้ 3 ช่องทางได้แก่ ทางไปรษณีย์ ตู้ ปณ.9 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข อ.เมืองจ.นนทบุรี 11004 ทางโทรศัพท์หมายเลข 02-5901314และทางเวปไซต์ของศูนย์ประสานราชการใสสะอาด www.moph.go.th/ops/opct/  หลังรับแจ้งจะเร่งดำเนินการตรวจสอบทันที        หรือหากไม่สะดวก สามารถแจ้งผ่านช่องทาง ป.ป.ช.คือ ตู้ ปณ. 100 เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ถนนพิษณุโลก เจตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทรศัพท์ 02-2823161-5 โทรสาร 02-2811145หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี-สนามบินน้ำ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 02-5284800-49
 
  *********************************** 17 สิงหาคม 2553


   
   


View 10    17/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ