การสร้างเสริมสุขภาพ การให้บริการและการคุ้มครองผู้บริโภค
วันนี้( 17สิงหาคม 2553) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อระบบสุขภาพเป็นครั้งแรก โดยสำรวจตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน พ.ศ.2553แบ่งเป็น 2ส่วน ประกอบด้วยความเชื่อมั่นต่อระบบสุขภาพ และความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาลทางด้านสุขภาพ โดยเก็บตัวอย่างจากประชาชนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ สุ่มตัวอย่างประชาชนจำนวน 9,000 คน
การสำรวจความเชื่อมั่นต่อระบบสุขภาพในภาพรวมนั้น เน้นการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นใน 4 มิติ ได้แก่ 1.การควบคุมป้องกันโรค 2.การสร้างเสริมสุขภาพ 3.การให้บริการและควบคุมคุณภาพบริการ และ 4.การคุ้มครองผู้บริโภค โดยได้กำหนดเกณฑ์ชี้วัด หากได้ 100 คะแนนมีความเชื่อมั่นเท่าเดิม หากต่ำกว่า 100 ความเชื่อมั่นลดลง หากเกิน 100แสดงว่าความเชื่อมั่นสูงขึ้น โดยผลการสำรวจปรากฏว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสุขภาพตัวเลขภาพรวม ประชาชนมีความเชื่อมั่นสูงถึง136.89
แยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือมีความเชื่อมั่น 146.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเชื่อมั่น144.4ภาคใต้มีความเชื่อมั่น 133.97 ภาคกลางมีความเชื่อมั่น 129.15 ในกรุงเทพมหานคร 126 ส่วนความเชื่อมั่นแยกตามรายมิติได้ดังนี้ มิติด้านการควบคุมป้องกันโรคมีความเชื่อมั่น 143.35 มิติด้านการสร้างเสริมสุขภาพมีความเชื่อมั่น142.77 มิติด้านการบริการการควบคุมคุณภาพการให้บริการด้านสุขภาพมีความเชื่อมั่น 130.86 ส่วนมิติด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ความเชื่อมั่นอยู่ที่ 130.38
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาลในระบบสุขภาพ ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 131.09 แยกเป็นภาคดังนี้ ภาคเหนือ 141.96 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 137.43ภาคใต้ 131.23 ภาคกลาง 121.6 และกรุงเทพมหานคร 119.44
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อระบบสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน 3ระบบหลักในส่วนที่ภาครัฐเป็นผู้ดูแลโดยตรง ผลปรากฏดังนี้ ระบบสวัสดิการข้าราชการมีความเชื่อมั่น 139.25 ระบบรักษาพยาบาลฟรีมีความเชื่อมั่น 138.81 และระบบประกันสังคมมีความเชื่อมั่น 126.47 ขณะเดียวกันยังได้ทำการสำรวจระบบประกันของเอกชน พบมีความเชื่อมั่น 121.18 ส่วนตัวเลขความเชื่อมั่นที่ไม่มีหลักประกัน 128.13 ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้น สามารถนำตัวเลขไปใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบสุขภาพต่อไป นายจุรินทร์ กล่าว
********************************************** 17สิงหาคม 2553