สาธารณสุขชี้ขณะนี้ไทยมีประชากรต่างด้าวอาศัยในประเทศเกือบ 1.5ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่ขึ้นทะเบียน และอาจนำโรคติดต่อเช่น วัณโรคซึ่งพบร้อยละ 42 แพร่สู่คนไทย วอนนายจ้างพาแรงงานเข้าสู่ระบบตรวจสุขภาพก่อนรับเข้าทำงาน และซื้อบัตรประกันสุขภาพราคา 1,300 บาทต่อคนต่อปี ดูแลต่อเนื่องเหมือนคนไทย พร้อมเร่งพัฒนาศักยภาพพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว ช่วยงานในระบบสุขภาพ ลดช่องว่างการสื่อสาร
วันนี้ (18 สิงหาคม 2553) ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาวิชาการระดับชาติ การบริการสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว ครั้งที่ 3 เพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในกลุ่มประชากรต่างด้าวให้เป็นระบบ มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานบริการสาธารณสุขในแรงงานต่างด้าว ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมประชุมกว่า 500 คน
นายแพทย์ศิริวัฒน์กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ วันที่ 19มกราคม 2553 ประเทศไทยมีประชากรต่างด้าวทั้งสิ้น 1,310,690 คน เกือบทั้งหมดเป็นประชากรต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งจะต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ และขยายเวลาให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยประมาณร้อยละ 30 ของต่างด้าวทั้งหมด
ประชากรต่างด้าวทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนรวมถึงผู้ติดตามทั้งหมด ที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย พบปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งด้านความมั่นคง ความปลอดภัย เป็นกลุ่มที่จะนำโรคติดต่อมาระบาดสู่คนไทย เช่น เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย เป็นต้น เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่จำกัด ที่อยู่ไม่ถูกสุขลักษณะ อยู่แบบหลบๆซ่อนๆ เมื่อเจ็บป่วยจึงไม่กล้าไปหาหมอ เนื่องจากกลัวถูกจับ ซึ่งมีผลเสียมาก ทำให้โรคแพร่ระบาดง่ายและระบาดอย่างรวดเร็วมาติดคนไทยได้ไม่ยาก
นายแพทย์ศิริวัฒน์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันไม่ให้ต่างด้าวนำโรคมาแพร่สู่คนไทย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้แรงงานต่างด้าวทุกคนตรวจสุขภาพก่อนรับเข้าทำงาน ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดค่าตรวจ 600 บาท มีทั้งการเอ็กซเรย์ปอด ตรวจเสมหะดูการติดเชื้อวัณโรคปอด ตรวจหาสารเสพติด ตรวจเลือดหากการติดเชื้อซิฟิลิส ตรวจเชื้อโรคเท้าช้าง ตรวจดูการตั้งครรภ์ หากพบว่าไม่ร้ายแรงก็จะรักษาหายขาดและอนุญาตให้ทำงาน ทั้งนี้จะให้ต่างด้าวทุกคนซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคา 1,300 บาทต่อคนต่อปี เพื่อการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการรักษาเช่นเดียวกันคนไทย จึงขอความร่วมมือจากนายจ้างให้พาต่างด้าวไปตรวจสุขภาพทุกคน เพื่อความปลอดภัยจากโรคติดเชื้อต่างๆ ที่แฝงอยู่ในแรงงานเหล่านี้ โดยเปิดบริการแล้วตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งบัตรดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปีคือถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554
ทั้งนี้ ผลการตรวจสุขภาพแรงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ในปี 2551 ตรวจทั้งหมด 77,245 คน พบปกติ 74,882 คน พบโรคที่ต้องติดตามรักษาเช่น มาลาเรีย วัณโรค เท้าช้าง โรคพยาธิลำไส้ 576 คน โรคที่ต้องห้ามมิให้ทำงานเช่นโรคพิษสุราเรื้อรัง ซิฟิลิสระยะแพร่เชื้อ โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง ที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจสังคม โรคจิต วัณโรคระยะติดต่อ 162 คน ในปี 2552 ตรวจทั้งหมด 376,623 คน พบปกติ 374,186 คน โรคที่ต้องติดตามรักษา 2,295 คน โรคที่ต้องห้ามมิให้ทำงาน 142 คน ในปีนี้ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 2553 ตรวจทั้งหมด 220,444 คน พบปกติ 217,340 คน พบโรคที่ต้องติดตามรักษา 3,023 คน พบโรคที่ต้องห้ามมิให้ทำงาน 81 คน โดยโรคที่ตรวจพบในแรงงานพม่าอันดับ 1 ได้แก่ โรควัณโรคร้อยละ 42 รองลงมาคือซิฟิลิสร้อยละ 35 และโรคเท้าช้างร้อยละ 2
อนึ่ง ในการให้บริการสาธารณสุขที่ผ่านมา พบปัญหาในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดอบรมต่างด้าวให้เป็นพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ทำหน้าที่คล้ายกับอสม. เป็นผู้ช่วยงานในระบบสุขภาพ สามารถลดช่องว่างในการสื่อสาร เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข และเชื่อมต่องานส่งเสริมป้องกันโรคระหว่างสถานพยาบาลและชุมชนต่างด้าว ขณะนี้อบรมได้แล้ว 75 คน และได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ซึ่งบางแห่งจะผลักดันให้มีพสต. เป็นครูผู้ช่วยสอนเด็กข้ามชาติในระบบศึกษาไทยด้วย
**************************** 18 สิงหาคม 2553