องค์การเภสัชนำมาต่อยอดผลิตเป็นแคปซูลสมุนไพร จีพีโอ ไฟโตเพล็กซ์ สรรพคุณแก้น้ำเหลืองเสีย ขณะนี้รอขึ้นทะเบียนกับอย. คาดได้ใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า 

          วันนี้ (6 กันยายน 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีคลินิกนายแพทย์สมหมายจ.สิงห์บุรี ที่สามารถพัฒนายาสมุนไพรมาใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบันในการรักษามะเร็ง ว่า จากการที่มอบให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก องค์การเภสัชกรรม และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ เป็นแพทย์แผนปัจจุบันที่มีใบประกอบโรคศิลปะ และสถานพยาบาลมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย แต่การที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนนั้น เป็นความสนใจของผู้สื่อข่าวเอง นายแพทย์สมหมายไม่ได้มีเจตนาอวดอ้างใดๆทั้งสิ้น ส่วนการรักษาโรคมะเร็งที่ดำเนินการอยู่ เป็นการรักษาแบบผสมผสาน โดยใช้การแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับการปรุงสมุนไพร ซึ่งแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะสามารถดำเนินการได้ในการรักษาเฉพาะราย ขึ้นอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่มีข้อสงสัยว่ายาสมุนไพรที่นายแพทย์สมหมายใช้ในการรักษา ได้มีการเตรียมการผลิตเพื่อใช้ในการรักษามะเร็งหรือไม่นั้น ได้รับรายงานจากองค์การเภสัชกรรมว่า  ขณะนี้ได้นำตำรับยาสมุนไพรที่นายแพทย์สมหมายพัฒนาขึ้น มาผลิตเป็นยาแคปซูล ที่เรียกว่า จีพีโอ ไฟโตเพล็กซ์ (GPO PHYTOPLEX) อยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. โดยยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 แต่มีสรรพคุณที่ขอขึ้นทะเบียนใช้เพื่อแก้น้ำเหลืองเสีย

นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้รวบรวมตำรับยาสมุนไพรไทยหรือตำรับยาแผนไทย พบมีทั้งสิ้น 86,095 ตำรับ เฉพาะที่ใช้กับโรคมะเร็งมี 1,927 ตำรับ ซึ่งมีทั้งที่ใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด สำหรับตำรับยาแผนไทยสำหรับข้อบ่งใช้ดังกล่าวขณะนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาตามขั้นตอนกระบวนการของ อย. เนื่องจากการรับขึ้นทะเบียนยาสำหรับข้อบ่งใช้ดังกล่าวควรจะต้องผ่านกระบวนการวิจัย ทั้งในสัตว์และการวิจัยในคน ซึ่งตำรับยาแผนไทยดังกล่าวเกือบทั้งหมดยังไม่ผ่านการวิจัยในคน จึงได้มอบนโยบายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ รวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมด และประสานงานกับสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สนใจเรื่องนี้ ประชุมสัมมนาเพื่อเดินหน้าไปสู่การพัฒนายาแผนไทย ให้ผ่านกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหรือวงการแพทย์แผนปัจจุบัน ให้สามารถนำมาใช้ในการรักษาต่อไปในอนาคต

ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในการขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ตามหลักปฏิบัติ หากเอกสารหลักฐานครบถ้วน คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่า ยาดังกล่าวมีความปลอดภัยในการใช้และมีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยมาร่วมพิจารณาในด้านคุณสมบัติ และสรรพคุณต่างๆ ด้วย

 *************************************** 6 กันยายน 2553


   
   


View 10    06/09/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ