เนื่องจากต้องแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งใช้เวลานานกว่าการพิจารณาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุข

               เย็นวันนี้ (13 กันยายน 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี ว่า ประเด็นที่นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ได้ขอให้คณะกรรมการหลักประกันภายหลังสุขภาพแห่งชาติพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในมาตราที่ 41 และมาตราที่ 59 เพื่อขยายการคุ้มครองในกรณีผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ไปสู่ระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการด้วยนั้น   มติที่ประชุมในวันนี้ มีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแก้ไขมาตรา 41 และมาตร 59 เนื่องจากขณะนี้ได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาแล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีหลักการครอบคลุมประเด็นกว้างขวางกว่าการที่จะไปแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในมาตราที่ 41 และมาตราที่ 59

                 

          สำหรับประเด็นที่ นพ.เอื้อชาติ ได้เสนอให้มีการแก้ไขข้อบังคับของสปสช.ให้ครอบคลุมผู้รับบริการทั้ง 3 ระบบ ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในมาตรา 41และ 59 ที่ประชุมได้พิจารณาและมีความเห็นว่าการที่จะออกหรือปรับปรุงระเบียบให้ครอบคลุมทั้ง 3 ระบบนั้น ยังมีปัญหาทางข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นเบื้องต้นว่าพระราชบัญญัติที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถบังคับใช้ได้เฉพาะระบบการรักษาพยาบาลฟรี หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามที่ระบุไว้ 48 ล้านคนเท่านั้น
          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า โดยขั้นตอนกระบวนการ หากแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ คือต้องเสนอเข้าครม. ให้ความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วกลับมาเข้าครม.อีกครั้ง จึงเข้าสู่วิปรัฐบาล แล้วส่งไปสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุระเบียบวาระการประชุม ดังนั้นการพิจารณาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุข จะเร็วกว่าการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ถึงขั้นการบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอแค่ขั้นตอนของการพิจารณาเท่านั้น
                                                           
          ส่วนกรณีที่เครือข่ายภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือขอให้พิจารณาประเด็นจริยธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อนของนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์  เนื่องจากปัจจุบันนายแพทย์เอื้อชาติมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเป็นประธานชมรมโรงพยาบาลเอกชนด้วย นายจุรินทร์กล่าวว่า ได้รับหนังสือไว้และทำตามขั้นตอนการปฏิบัติ โดยส่งหนังสือดังกล่าวให้สปสช.เป็นผู้พิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปกติ เพราะเมื่อมีหนังสือร้องมาเกี่ยวกับสปสช. ก็ต้องให้สปสช.เป็นผู้พิจารณา
 ************************************** 13 กันยายน 2553


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ