“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข จากกลุ่มผู้บริบาล กลุ่มผู้เสียหายจากการรับริการ และกลุ่มประชาชนทั่วไป ผลสรุปวันนี้ ด้านฝ่ายแพทย์มีความเห็นหลากหลาย บางกลุ่มขอให้ชะลอร่างพรบ. บางกลุ่มขอขยายมาตรา 41 บางกลุ่มเสนอประเด็นที่ยังไม่สบายใจ ส่วนภาคประชาชนมายื่นข้อเสนอแต่ไม่ร่วมประชุม พร้อมนำข้อสรุปประเด็นความเห็น/ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสัปดาห์หน้า และให้กลุ่มต่าง ๆ ที่ยังไม่เสนอความคิดเห็น ให้ส่งข้อสรุปได้ภายในวันศุกร์นี้
วันนี้ (12 ตุลาคม 2553) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 มีทั้งหมด 63 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสภาวิชาชีพ สำนักการแพทย์และอนามัยกทม. กรมแพทย์เหล่าทัพต่างๆ สมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นายกสมาคมแพทย์คลินิกไทย ประธานมูลนิธิเพื่อการบริโภค คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานคณะกรรมการ และมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะเป็นเลขานุการ เพื่อรวบรวมข้อสรุปประเด็นความเห็น/ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ภายหลังการประชุมนายแพทย์ไพจิตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ผลการประชุมในวันนี้สรุปประเด็นได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือ ความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริบาล มีส่วนหนึ่งที่ขอให้ชะลอร่าง พรบ. ฉบับนี้ไว้ก่อน ส่วนหนึ่งขอให้ขยายมาตรา 41 ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกส่วนหนึ่งเสนอประเด็นตามมาตราต่าง ๆ ที่ยังไม่สบายใจ เช่น กรณีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หากมีข้อผิดพลาดหรือเกิดปัญหาตามมา ก็จะไม่มีแพทย์ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อีก ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มภาคประชาชนฝ่ายผู้เสียหายจากการรับบริการ วันนี้ได้ส่งตัวแทนได้มายื่นเอกสารข้อเสนอ 1 ชุด แต่ไม่ได้เข้าประชุมด้วย
และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดใหญ่ ที่เหลือได้ประชุมพิจารณาประเด็นความเห็นรายละเอียดของร่างพรบ.ที่ได้รับมาและสรุป 12 ประเด็นประกอบด้วย 1. ชื่อร่างพระราชบัญญัติ 2. หลักการ 3. คำนิยาม 4. การคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข 5. คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข 6.สำนักงานเลขานุการ 7. กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข 8.การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย 9. การฟ้องคดีอาญาและบทกำหนดโทษ 10.การแต่งตั้งกรรมการในบทเฉพาะกาล 11.การไกล่เกลี่ยและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข และ12. การพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการต่อไป ในส่วนของพรบ.ก็ต้องเดินตามเส้นทางต่อไปตามระบบ ส่วนการเจรจาเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ หาก 2 ฝ่ายมีความพร้อมจะเชิญมาปรึกษาหารือต่อได้ เพราะไม่มีพรบ.ใดที่ออกมาแล้ว ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นทุกข์
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการ จะเร่งรวบรวมข้อมูล ผลสรุปความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ ด้วยความรอบคอบที่สุด ขณะเดี่ยวกันยังเปิดกว้างให้กลุ่มที่ยังไม่เสนอความคิดเห็นเข้ามาซึ่งมีอีกประมาณ 2-3 กลุ่ม ได้เสนอความเห็นได้ภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ และจะรวบรวมทั้งหมดเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสัปดาห์หน้า
***************************** 12 ตุลาคม 2553