กระทรวงสาธารณสุขไทย จับมือมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และละตินอเมริกา วิจัยวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดรวม 4 สายพันธุ์ที่วิจัยทางคลินิกโดยมหาวิทยาลัยมหิดลครั้งแรกในโลก โดยศึกษาที่ราชบุรีและกำแพงเพชร เริ่มในปี 2554 เผยขณะนี้พบอัตราป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโลกร้อนขึ้น และการนำเชื้อจากพื้นที่ระบาดเข้าประเทศ ในปีที่แล้วพบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกในสหรัฐอเมริกา 27 ราย หลังจากไม่พบมานานมากกว่า 76 ปี ในปีนี้มีรายงานพบอีก 12 ราย คาดชาวโลกจะรู้ข่าวดีในอีก 4 ปี    

          วันนี้ (14ตุลาคม 2553) ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดป้ายอาคารสำนักงาน โครงการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติงานของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารบกสหรัฐ(AFRIMS) และกระทรวงสาธารณสุข ในโครงการวิจัยโครงการเฝ้าระวังแบบไปข้างหน้าเพื่อติดตามกลุ่มอาการไข้ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียที่มีโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นโดยไทยจะศึกษาร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และที่ละตินอเมริกา นับเป็นการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกครั้งแรกในโลก เพื่อพัฒนาวัคซีนใช้ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มี 4 สายพันธุ์ ให้ประชากรโลกประมาณ 6,000 ล้านคน
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ในไทยได้คัดเลือกพื้นที่ศึกษา  2 จังหวัด คือกำแพงเพชรและราชบุรี  เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยปีละจำนวนมากและตรวจพบเชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ที่ 1,2,3และ 4 วัคซีนที่จะใช้ครั้งนี้เป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกรวม 4 สายพันธุ์ของบริษัทซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ฝรั่งเศส ที่วิจัยทางคลินิกโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาระยะที่ 2 เพื่อดูประสิทธิผลเบื้องต้นในกลุ่มเด็ก 4,000 คนที่โรงพยาบาลราชบุรี จ.ราชบุรี คาดว่าจะทราบผลในต้นปีหน้า หลังจากนั้นจะนำมาวิจัยทางคลินิกขนาดใหญ่ระยะที่ 3 เพื่อหาประสิทธิผลเพิ่มเติมและเพื่อประเมินคุณภาพวัคซีนชนิดนี้ว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกในคนได้หรือไม่ โดยจะศึกษาในอาสาสมัครกลุ่มเด็กอายุ 2-14 ปีใน 5 ประเทศ คือไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งสิ้นหมื่นกว่าคน แต่เฉพาะไทยศึกษาที่จังหวัดกำแพงเพชร และที่อ.บ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ใช้อาสาสมัครประมาณ 3,000-4,000 คน โดยมีนายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ประสานงานหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวของประเทศไทย คาดจะเริ่มประมาณเดือนสิงหาคมในปี 2554 ใช้เวลาศึกษาและทราบผลภายใน 4 ปี หากสำเร็จ ทั่วโลกก็จะมีเครื่องมือในการต่อสู้กับภัยจากยุงลายที่เป็นตัวการนำเชื้อไข้เลือดออกไปสู่คนได้สำเร็จ ใช้งบลงทุนหลายร้อยล้านบาท   
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกรายงานว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก เนื่องจากภาวะโลกร้อน มีการเพิ่มของประชากรในเขตเมือง และปัจจัยอื่นๆอีกหลายปัจจัย ทำให้แนวโน้มการป่วยโรคไข้เลือดออกแพร่กระจายสูงขึ้นหลายประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นเด็ก โดยเฉพาะทางเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลกมากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก มีกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อในประเทศประมาณ 2,500 ล้านคน มีผู้ป่วยปีละประมาณ 50 ล้านคน และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลปีละประมาณ 500,000 ราย ที่สำคัญยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวในพื้นที่ที่มีความชุกชุมของเชื้อไข้เลือดออกที่มีมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกต่อปี เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อและกลับไปป่วยในประเทศของตนเอง ในปี 2552 มีรายงานพบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก 27 รายในรัฐฟลอริด้าประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ไม่พบโรคนี้มาแล้ว 76 ปี และในปี 2553 นี้มีรายงานพบอีก 12 ราย
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับในการวางรากฐานเตรียมพร้อมเข้าสู่การวิจัยประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ปีนี้ รพ.กำแพงเพชร ได้ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และหน่วยไวรัสวิทยาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารบกสหรัฐ จัดทำโครงการเฝ้าระวังแบบไปข้างหน้าเพื่อติดตามกลุ่มอาการไข้ โดยใช้ชื่อว่า โครงการซีวายดี 34 (CYD34) โดยจะทำการศึกษาและติดตามอาการเด็กในพื้นที่อายุระหว่าง 2-14 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 150 คนตลอดเวลา 1 ปีเต็มว่าจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนกี่ราย และศึกษาว่ามีโรคไข้เลือดออกหรือสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดไข้ขึ้นในชุมชนของเด็กมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้รับอาสาสมัครเด็กเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นับเป็นการศึกษาปัญหาความชุกของโรคไข้เลือดออกครั้งแรกของไทยเช่นกัน โดยมีคลินิกวิจัยที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร คาดจะใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 18 เดือน  
 สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ในปี 2553นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึง 8 ตุลาคม ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 94,746 ราย เสียชีวิต 112 ราย แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลง ภาคใต้มีอัตราป่วยสูงสุดพบ 278 ต่อแสนประชากร ผู้ป่วยสะสมจำนวน 24,565 ราย รองลงมาคือ ภาคเหนืออัตราป่วย 160 ต่อแสนประชากร มีผู้ป่วยสะสม 18,848 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออัตราป่วยต่ำสุดพบ 118 ต่อแสนประชากร มีผู้ป่วยสะสม 25,491 ราย จากการตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเป็นสายพันธุ์ที่ 2 มากที่สุดร้อยละ 43 สายพันธุ์ที่ 1 ร้อยละ 33 โดยพบเชื้อมากกว่า 1 ชนิดในพื้นที่เดียวกัน จะทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำและมีอาการรุนแรงมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นนักเรียน ขอให้เฝ้าระวังในโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงปิดเทอม เด็กมักจะไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาต่างๆ      
 
************************************* 14 ตุลาคม 2553


   
   


View 15    14/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ