วันนี้ (15 ตุลาคม 2553) ที่จังหวัดชลบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีนักเรียนชั้น ม. 6 สั่งซื้อยาทำแท้งทางอินเตอร์เน็ตมาใช้ ทำให้ตกเลือดจนหมดสติ ขณะนี้ อยู่ในการดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาลราชวิถี และจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกระยะหนึ่ง ว่า กรณีนี้ถือเป็นการขายยาผิดกฎหมาย และเป็นนโยบายที่ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ประสานงานกับตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ดำเนินการมาเป็นลำดับ ขณะนี้อย.ได้ตรวจพบหลักฐานการสั่งซื้อยาทางอินเตอร์เน็ต มีการโอนเงินเข้าบัญชีของนางพิณ ศิริศฤงคาร ซึ่งอยู่ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และมีหลักฐานการส่งยา ซึ่งตรวจสอบได้ว่ามาจากอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ถึงนักเรียนคนดังกล่าว ขณะนี้ได้ตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานอย. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะมีการตั้งข้อหา ได้แก่ ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากตรวจพบเป็นยาปลอมคือมีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1–20 ปี และปรับ 2,000- 10,000 บาท นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ยาไซโตเทค (Cytotec) ที่จำหน่ายทางเว็บไซต์นี้ เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์ เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาแผลของลำไส้เล็กส่วนต้นและกระเพาะอาหาร ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่มีแผนการตั้งครรภ์ เนื่องจากจะเพิ่มความแรงของการบีบตัวของมดลูกในเวลามีครรภ์ ซึ่งอาจทำให้การปฏิสนธิในครรภ์ถูกขับออกเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด และเกิดการตกเลือดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ทันเวลา การนำมาจำหน่ายนอกโรงพยาบาลและใช้ผิดวัตถุประสงค์ถือว่าผิดกฎหมาย “เรื่องนี้ เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้จำหน่ายว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และผิดกฎหมายชัดเจนซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีต่อไป เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ขอความร่วมมือปิดเว็บไซต์ที่ขายอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ที่ผิดกฎหมาย และให้อย.ร่วมมือกับตำรวจดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย” นายจุรินทร์กล่าว ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อการโฆษณาขายยาทางเว็บไซต์ เพราะเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ได้ยาปลอมหรือยาเสื่อมคุณภาพ และหากนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะผู้ใช้ไม่มีความรู้ ไม่มีผู้แนะนำวิธีการใช้และขนาดของยาที่ถูกต้อง ส่วนเจ้าของเว็บไซต์ ผู้ผลิต ผู้ขายยา ทุกราย ขอเตือนว่าอย่าโฆษณาหลอกลวงโอ้อวดสรรพคุณของยา โดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบอย.จะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด ลงโทษทั้งจำและปรับ และประสานกระทรวงไอซีทีให้ปิดเว็บไซต์ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาขายยาผิดกฎหมายทางเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556 ******************************* 15 ตุลาคม 2553


   
   


View 13    15/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ