วันนี้ (18 ตุลาคม 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 17 จังหวัดขณะนี้ ว่า มีสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 10 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโคกสำโรง จ.ลพบุรี 1 แห่ง ที่บุรีรัมย์ 2 แห่งคือโรงพยาบาลบ้านกรวด และศูนย์สาธารณสุขชุมชนสายตรี ที่เหลืออยู่ในจ.นครราชสีมาได้แก่ ที่อ.ปักธงชัย 2 แห่งคือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอปักธงชัย และสถานีอนามัยนกหอก ที่อ.เมือง 5 แห่งคือสถานีอนามัยงิ้ว สถานีอนามัยบ้านแปลง โรงพยาบาลหัวทะเล ซึ่งได้ปิดทำการชั่วคราว และย้ายผู้ป่วยในไปโรงพยาบาลมหาราช โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา
โรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด มี 2 แห่ง คือโรงพยาบาลมหาราช และโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ติดกัน น้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ที่โรงพยาบาลมหาราชขณะนี้มีผู้ป่วยใน 1,300 คน ยังให้บริการได้ โดยจ้างบริษัทเอกชนและให้โรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็น สำหรับการบริการผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาราชได้เปิดจุดบริการผู้ป่วยนอก นอกโรงพยาบาล 2 จุด คือที่โรงเรียนสุรนารี และที่บริเวณโรงแรมพีกาซัส เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอให้ประชาชนไปใช้บริการที่จุดดังกล่าว ส่วนโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ขณะนี้มีผู้ป่วยนอนรักษาประมาณ 100 คน ยังให้การดูแลต่อเนื่อง โดยย้ายผู้ป่วยไปนอนที่ชั้น 2 นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนอีก 1 แห่งคือโรงพยาบาลเซนต์แมรี ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมด้วย
ในเบื้องต้นโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีเครื่องซักผ้า เครื่องครัวต่าง ๆ ได้รับความเสียหายมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ยังไม่ รวมเครื่องรังสีรักษาหรือเครื่องโคบอลต์ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ระบบไฟฟ้าในเครื่องเสียหาย ส่วนรังสีโคบอลต์นั้นเก็บอยู่ในแค็ปซูลอย่างดี ไม่มีการกระจายออกมาแต่อย่างใด
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 4 เรื่องดังนี้ 1. ตั้งวอร์รูม ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม โดยมีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานศูนย์ มีกรมและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเป็นคณะทำงาน ให้รายงานความคืบหน้าผลการช่วยเหลือทุกวัน 2. สั่งการให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจรักษาโรคทั้งทางกายและสุขภาพจิต ฟรี และขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์จังหวัดใกล้เคียงไปช่วยจังหวัดที่ประสบภัย
3.ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งทีมสนับสนุนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา และหากโรงพยาบาลใดมีความจำเป็น ให้เปิดจุดบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมนอกโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยได้ทันท่วงที ส่วนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เปิดบริการตามปกติ สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง ให้จัดหน่วยแพทย์เข้าไปดูแลถึงที่บ้านเป็นกรณีพิเศษ 4.ให้วอร์รูมจัดระบบเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย และระบบส่งต่อผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินขณะเกิดน้ำท่วมไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงให้ชัดเจน เพื่อให้ปฏิบัติงานอย่างคล่องตัวและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยให้มากที่สุด
“ขอฝากเตือนประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้ปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากทั้งโรคหน้าฝนและโรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ 1.โรคระบบทางเดินอาหาร 2.โรคระบบทางเดินหายใจ และ 3.โรคอื่น ๆ เช่นฉี่หนู สัตว์มีพิษที่หนีน้ำกัด และโรคตาแดง ในการป้องกันโรคทางเดินอาหาร ขอให้ดื่มน้ำสะอาด ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เร่งจัดส่งน้ำดื่มไปให้ประชาชน ให้ใช้น้ำสะอาดล้างภาชนะใส่อาหาร อย่านำน้ำท่วมมาล้างภาชนะ เนื่องจากมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนจำนวนมาก และถ่ายอุจจาระลงถุงดำซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ จัดส่งถุงดำให้ประชาชนโดยเร็วเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และขอให้ล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดหลังเดินย่ำน้ำทุกครั้ง
สำหรับการป้องกันโรคทางเดินหายใจ ขอให้สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น ไม่ลงเล่นน้ำ เพราะอาจทำให้เจ็บป่วย ซึ่งในภาวะน้ำท่วมขังการเดินทางจะลำบากกว่าปกติ อาจทำให้อาการหนักได้ ส่วนการป้องกันโรคฉี่หนู ขอให้ใส่รองเท้าบู๊ทเมื่อเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลที่เท้า หรือน่อง และยังช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ที่หนีน้ำกัดได้ โดยในบ่ายวันนี้ จะเดินทางเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ น้ำ อาหาร และสิ่งของที่จำเป็นไปแจกจ่ายแก่ประชาชนด้วย
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่ออำนวยการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และสั่งการให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัดใกล้เคียงคือบุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์ รับผู้ป่วยหนักจากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดนครราชสีมาแทนโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งขณะนี้มียาและเวชภัณฑ์พร้อมบริการประชาชนเต็มที่
ด้านนายแพทย์สมยศ ดีรัศมิ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ ศูนย์เขตต่างๆ ของกรมอนามัยได้แจกคลอรีนเพื่อใส่ฆ่าเชื้อในน้ำดื่มน้ำใช้ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม มี 2 ชนิด คือชนิดเม็ดใช้สำหรับน้ำใช้ทั่วไป โดยใส่ในอัตราส่วน 1 เม็ดต่อน้ำ 1,000 ลิตร ส่วนคลอรีนชนิดน้ำที่เรียกว่าหยดทิพย์ใช้สำหรับน้ำดื่ม ผสมในอัตราส่วนหยดทิพย์ 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร
ด้านแพทย์หญิงสุวรรณี ตั้งวีระพรพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลมหาราชฯ จัดเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มกำลัง แม้ว่าเจ้าหน้าที่ประมาณร้อยละ 30 ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติงานได้ และบ้านพักเจ้าหน้าที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ได้เปิดหอประชุมชั้น 9 เป็นที่พักชั่วคราวของเจ้าหน้าที่และญาติ วันนี้ได้ให้ภาคเอกชนนำอาหารสำเร็จรูปมาให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่มื้อละ 3,000 คน และให้ภาคเอกชนซักอบเสื้อผ้าผู้ป่วยแทน ขณะนี้โรงพยาบาลมีความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวด นมกล่อง และอาหารแห้ง รวมทั้งของใช้เบ็ดเตล็ดผู้ป่วย เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ผ้าอนามัย เป็นจำนวนมาก ประชาชนแจ้งบริจาคได้ที่ 086 2512188 ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถโอนเงินบริจาคเข้าธนาคารกรุงไทย สาขานครราชสีมา เลขบัญชี 3013165804 และธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาหัวทะเล นครราชสีมา เลขบัญชี 7902605487 และวางมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรค เนื่องจากโรงบำบัดน้ำเสียใช้การไม่ได้ โดยแยกขยะติดเชื้อและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคแช่เครื่องมือก่อนชำระล้าง ส่วนห้องเก็บศพใช้การไม่ได้ เฉลี่ยมีศพวันละประมาณ 15 ศพ โรงพยาบาลได้จัดที่พักศพชั่วคราวที่ข้างห้องฉุกเฉินเพื่อรอญาติมารับกลับไป
**************************** 18 ตุลาคม 2553