โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ห่วงผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เป็นเบาหวาน ต้องกินยาหรือฉีดอินซูลินควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน อย่าอดอาหาร ตรวจหาแผลที่เท้าทุกวัน หลีกเลี่ยงการลุยน้ำท่วมขัง ชี้อันตราย อาจเกิดบาดแผลโดยไม่รู้ตัว ติดเชื้อลุกลามได้ หากยาหรืออินซูลินหมดให้แจ้งอสม. พร้อมแนะวิธีเก็บอินซูลินในกรณีที่ตู้เย็นใช้การไม่ได้ ให้เก็บในที่ร่มแดดส่องไม่ถึงชั่วคราว และรีบเก็บในตู้เย็นทันทีที่ใช้การได้
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ 17 จังหวัด ประชาชนจำนวนมากติดอยู่ในบ้าน หรือต้องอพยพมาอาศัยอยู่ในที่สูง ในบางพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา อาจใช้การไม่ได้ ทำให้ประชาชนได้รับความยากลำบาก กลุ่มที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้พิการ เด็กเล็กขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ขอให้รับประทานยาหรือฉีดยาอย่างสม่ำเสมอ อย่าหยุดยาอย่างเด็ดขาดเพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้หากยาหรืออินซูลินหมดให้แจ้งอสม.เพื่อประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขขอยาเพิ่ม และหากอาการกำเริบให้โทรปรึกษาได้ที่หมายเลข 1669ฟรีตลอด 24ชั่วโมง
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า สำหรับการปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน และพบได้ทั้งในชนบทและเขตเมือง ในช่วงน้ำท่วมนี้ขอให้ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ประการแรก อย่าเครียด ขอให้ทำใจยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น และอยู่กับปัจจุบันคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่ากังวลเรื่องในอนาคตข้างหน้ามากเกินไป พูดคุยกับเพื่อนบ้านเพื่อระบายทุกข์สุขร่วมกัน 2.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และ3.ให้รับประทานอาหารทุกมื้อ อย่าอดอาหาร เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลต่ำ หมดสติได้
ที่สำคัญขอให้ดูแลความสะอาดของเท้าเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการชาที่เท้า หากเกิดแผล ถูกของมีคมบาดหรือทิ่มตำอาจจะไม่รู้สึกเจ็บ จนแผลติดเชื้อลุกลามภายหลัง ขอให้ระวังอย่าให้เกิดแผลที่เท้า โดยหลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำน้ำท่วม จากการเหยียบของมีคมที่อยู่ในน้ำ และเท้าเปื่อยติดเชื้อที่ผิวหนังเป็นแผลลุกลาม หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำขอให้สวมรองเท้าบู๊ท อย่าให้น้ำเข้าไปในรองเท้า หลังจากลุยน้ำขอให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดเช็ดให้แห้งทุกครั้ง และตรวจดูเท้าทุกวันว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นหรือไม่
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า กรณีผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดยาอินซูลิน โดยทั่วไปมักจะให้เก็บอินซูลินไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาเพื่อรักษาคุณภาพของวัคซีน แต่ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและตู้เย็นใช้การไม่ได้ ก็สามารถเก็บอินซูลินไว้ในห้องปกติได้ แต่ขอให้อยู่ในที่เย็นที่สุดคือในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดด หรือเก็บไว้ในภาชนะที่มีน้ำหล่อไว้เพื่อให้ความเย็นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะช่วยถนอมคุณภาพอินซูลินได้เป็นการชั่วคราว และเมื่อตู้เย็นใช้การได้ให้รีบนำไปเก็บในตู้เย็นทันที
************************************ 19 ตุลาคม 2553