เน้นการถ่ายทอดนโยบายสู่ผู้ปฎิบัติชัดเจน และปฏิบัติได้จริง ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ครม.อนุมัติในหลักการในการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ การบริหารจัดการสถานพยาบาลที่ประสบน้ำท่วม

วันนี้ (19 ตุลาคม 2553) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จำนวน 300 คน เพื่อมอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ และทิศทางการดำเนินงานสาธารณสุขสำคัญที่ต้องเร่งรัดดำเนินการในปี 2554 ให้เกิดการประสานความร่วมมือการทำงาน รวมทั้งติดตามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคในการทำงาน และแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาที่เร่งด่วนขณะนี้ คือ ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง
นายจุรินทร์กล่าวว่า ในวันนี้มีเรื่องที่จะทำความเข้าใจ 3เรื่อง 1.การใช้งบประมาณทั้งโครงการไทยเข้มแข็งและงบประมาณปี 2553ขอให้เร่งดำเนินงานทันทีภายใน 3เดือน ตั้งแต่ 1ตุลาคม - 31ธันวาคม 2553หากไม่เร่งดำเนินการส่วนกลางจะนำมาปรับใช้ตามความเหมาะสม เพื่อให้งานดำเนินการไปตามแผนงานที่ตั้งไว้ 2.เรื่องความก้าวหน้าและการปฏิบัติงานของแพทย์ ได้เจรจากับ ก.พ.แล้ว ให้แพทย์สามารถก้าวหน้า โดยขยายเพดานเดิม จากระดับชำนาญการพิเศษหรือซี 8เดิม เป็นระดับเชี่ยวชาญหรือซี 93.การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เป็นหัวใจที่สำคัญของการทำงาน ขอให้ผู้บริหารทุกระดับเคร่งครัดการปฏิบัติตามนโยบายและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งถ่ายทอดนโยบายให้ผู้ปฏิบัติทุกระดับรับทราบ และปฏิบัติได้อย่างชัดเจน  ปัญหาที่พบจากการออกตรวจราชการ คือการถ่ายทอดนโยบายไปสู่การปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่ ทำให้การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย และการรายงานผลการปฏิบัติงานที่ยังล่าช้า หรือไม่รายงาน ซึ่งจะส่งผลถึงฝ่ายนโยบายที่ขาดข้อมูลสำคัญมาประกอบการตัดสินใจ และทำให้การติดตามนโยบายและการช่วยเหลือมีปัญหา
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า เรื่องน้ำท่วมขอให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดหน่วยแพทย์ออกให้บริการประชาชน ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต และรายงานผลให้ศูนย์ปฏิบัติการฯในส่วนกลางทุกวัน และในวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข ในการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาสำหรับโรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา เป็นต้น โดยอนุมัติในหลักการ ส่วนวงเงินให้กระทรวงสาธารณสุขตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการต่อไป
ในเรื่องการประเมินความเสียหายของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาขณะนี้ยังทำไม่เสร็จ ในวันพรุ่งนี้ (20ตุลาคม 2553) ตนจะได้เดินทางไปทีโรงพยาบาล หารือและวางแผนช่วยเหลือรวมทั้งวางแผนการดูแลผู้ป่วย ทั้ง 1,300คน ว่าจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเพิ่มเติมหรือไม่ โดยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องย้ายกลุ่มแรกคือผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ จำเป็นที่ต้องใช้ออกซิเจนแบบท่อ
 ************************************ 19 ตุลาคม 2553


   
   


View 13    19/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ