ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจรักษาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา 2 วัน พบผู้ป่วยเกือบ 3000 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ส่วนสถานบริการได้รับความเสียหาย 13 แห่ง มูลค่า 252 ล้านบาทเศษ
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมจังหวัดนครราชสีมาเพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ประสบภัย 23 อำเภอ 162 ตำบล ประชากร 87,887 คน น้ำท่วมรุนแรง 4 อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง ปากช่อง ปักธงชัย และเฉลิมพระเกียรติ ได้ตั้งศูนย์อำนวยการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ส่งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดที่ศาลากลางตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งสั่งการให้ทุกพื้นที่ที่มีน้ำท่วมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 18-19 ตุลาคม ออกให้บริการ 26 จุด รวม 34 ครั้ง มีผู้ป่วย 2,993 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคไข้หวัด จำนวน 1,473 ราย รองลงมาน้ำกัดเท้า 451 ราย มีอาการเครียด นอนไม่หลับ 350 ราย ได้มอบยาสามัญประจำบ้านให้ผู้ประสบภัยแล้ว 13,300 ชุด พร้อมด้วยคลอรีน และรองเท้าบู๊ท 1,150 คู่
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในส่วนสถานบริการและสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายและผลกระทบรวม 13 แห่ง รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 252,120,000 บาท ประกอบด้วย โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ประมาณความเสียหาย 222 ล้านบาท โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ประมาณการความเสียหาย 24.6 ล้านบาท โรงพยาบาลชุมชน 2 แห่งคือโรงพยาบาลปักธงชัยและโรงพยาบาลปากช่อง ประมาณการความเสียหายจำนวน 2,550,000 บาท สำนักงานสาธารณสุขอำเภอจำนวน 1 แห่ง ประมาณการความเสียหาย 1,180,000 บาทและสถานีอนามัยจำนวน 9 แห่งประมาณการความเสียหาย 1,790,001 บาท
ทั้งนี้ ได้ให้สถานพยาบาลในสังกัด เร่งสำรวจผู้ป่วยเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ต้องรับยาต่อเนื่อง หรือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต้องล้างไตเป็นประจำ หากมีปัญหาน้ำท่วมออกมารับยาตามนัดไม่ได้ ให้จัดทีมออกไปให้บริการตรวจและส่งยาถึงบ้าน หรือรับตัวออกมาที่สถานพยาบาล โดยผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
******************************* 20 ตุลาคม 2553
View 14
20/10/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ