เพื่อให้บริการประชาชนโดยเร็ว และให้สถานบริการที่มีแนวโน้มถูกน้ำท่วม เตรียมแผนรับสถานการณ์ ให้พร้อมบริการประชาชนหากเจอวิกฤตน้ำท่วม
วันนี้ (22 ตุลาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทั้งด้านการให้บริการประชาชนที่ประสบภัย การกอบกู้สถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหาย
นายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมโดยภาพรวมขณะนี้ มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา ลพบุรี และชัยภูมิ โรงพยาบาลถูกน้ำท่วม 5 แห่ง อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง ได้แก่ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.จิตเวชนครราชสีมา รพ.ชัยภูมิ และล่าสุดคือรพ.พิมาย รวมทั้งเอกชน 1 แห่งคือรพ.เซนต์แมรี จ.นครราชสีมา ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 94 หน่วย ให้บริการประชาชนแล้ว 14,080 คน โรคที่พบมากที่สุดคือน้ำกัดเท้า รองลงมาได้แก่ ปวดเมื่อย โรคผิวหนัง ไข้หวัด และโรคเครียด วิตกกังวล
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษให้ 1.เร่งดำเนินการสำรองยาเวชภัณฑ์ และเร่งกระจายยาเวชภัณฑ์ สิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น รองเท้าบู๊ท ถุงดำ เจลล้างมือ ยากันยุง อาหาร น้ำบรรจุขวดที่ได้รับบริจาค โดยส่งให้ถึงพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง 2.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตรวจทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้มากหน่วยที่สุดและออกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเร็ว 3.เร่งประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีในพื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน สามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่ร่วมโครงการรักษาฟรี 4.เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ เพื่อเปิดให้บริการประชาชนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
5.สำหรับพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะถูกน้ำท่วม ให้รีบดำเนินการจัดทำแผนแก้ปัญหาไม่ให้โรงพยาบาลถูกน้ำท่วม ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพรับผิดชอบดูแล เช่น ทำคัน/เขื่อนกั้นน้ำไว้ล่วงหน้า เพื่อสามารถให้บริการประชาชนได้ในภาวะวิกฤตน้ำท่วม 6.ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการที่ติดในบ้านน้ำท่วม ทั้งเชิงรับและเชิงรุก เชิงรับคือ โทรขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่หมายเลข 1669 ออกให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนแผนเชิงรุก ให้ทุกโรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม นำรายชื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่จำเป็นต้องดูแลอย่างเร่งด่วน และประสานงานกับหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินที่มีกระจายอยู่ในทุกตำบลให้เข้าไปช่วยเหลือดูแลถึงบ้าน และ 7.สำหรับเจ้าหน้าที่ ที่บ้านถูกน้ำท่วม หากจำเป็นต้องเช่าที่พักหรือต้องพักในโรงแรมไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย กระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบดูแลให้ตามความเป็นจริง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการออกไปทำงานช่วยเหลือประชาชน
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมหรือวอร์รูมของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เมื่อวานนี้ (21 ตุลาคม 2553) ได้เพิ่มทีมจาก 69 ทีมเป็น 94 ทีม มีผู้รับบริการเพิ่มจาก 8,400 รายเป็น 14,080 ราย กว่าครึ่งเป็นโรคน้ำกัดเท้า รองลงมาคือปวดเมื่อยร่างกายร้อยละ 19 ผื่นคันผิวหนังร้อยละ 7 ไข้หวัดร้อยละ 5 เครียดวิตกกังวลร้อยละ 4 ให้ความรู้ประชาชน 16,725 คน ออกเยี่ยมบ้าน 95 หมู่บ้าน จำนวน 18,531 คน
โดยมีผู้เสียชีวิต 19 ราย ใน 7 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา 6 ราย ลพบุรี 5 ราย บุรีรัมย์ 4 ราย ชัยภูมิระยอง ชัยภูมิ และสระแก้ว จังหวัดละ 1 รายทั้งหมดเกิดจากการจมน้ำ ซึ่งเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลมชัก โรคเส้นเลือดสมองตีบ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ประสบภัย เร่งประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้คำแนะนำประชาชน เพื่อลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ผลจากน้ำท่วมมีสถานพยาบาลได้รับความเสียหาย 219 แห่ง
สำหรับการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ในวันนี้กรมการแพทย์จะจัดส่งทีมแพทย์ พยาบาลจากสถาบันโรคผิวหนังจำนวน 3 ทีมไปร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลา 3 วัน และจัดทีมสำรองอีก 10 ทีม เพื่อสนับสนุนจังหวัดอื่นๆเมื่อได้รับการร้องขอ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดเตรียมรถปฏิบัติการตรวจชันสูตรเคลื่อนที่จำนวน 7 คัน เพื่อให้การช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ห้องแล็บใช้การไม่ได้
ในการเฝ้าระวังและรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันโรคระบาดในพื้นที่น้ำท่วม กรมอนามัย ได้จัดส่งคลอรีนเม็ด 84 กล่อง สารส้ม 46 กระสอบ ถุงดำใส่ขยะ 36 กระสอบ น้ำยาล้างจาน 2 กล่อง เจลล้างมือ 10 กล่อง คลอรีนน้ำ 2 ลัง ไปที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรีและนครราชสีมา และเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารและน้ำดื่มบริจาคอย่างต่อเนื่อง โดยสุ่มเก็บอาหารน้ำดื่มดูการปนเปื้อนเชื้อโรคเพื่อป้องกันโรคจากอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง จนขณะนี้ยังไม่พบปัญหาโรคระบาดเกิดขึ้น และจะไม่มีการเสียชีวิตจากโรคฉี่หนู
******************************** 22 ตุลาคม 2553