นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายย้ำให้จังหวัดพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ออกบริการประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การดูแลสุขภาพในช่วงน้ำท่วม รวมทั้งให้เข้มข้นการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม 5 โรคสำคัญที่พบบ่อยในภาวะอุทกภัย ได้แก่ 1.โรคอุจจาระร่วง 2.โรคไข้ฉี่หนู 3.ไข้หวัดใหญ่ 4. ปอดบวม 5.ตาแดง และโรคอื่น ๆ เช่น แผลติดเชื้อรวมทั้งโรคหัด ซึ่งมักเกิดการระบาดได้ง่ายเมื่อมีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ตามจุดอพยพต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้ประสบภัยพยายามหลีกเลี่ยงการลุยน้ำแช่น้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากอดนอนจะทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายอ่อนแอลง อาจเจ็บป่วยได้ง่าย และให้เฝ้าระวังสังเกตอาการเจ็บป่วย โดยโรคไข้ฉี่หนู อาการจะมีไข้สูง ปวดตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง ไข้หวัดจะมีไข้ ไอ อ่อนเพลีย หากอาการหนักและมีอาการปอดบวมแทรก จะมีไข้สูง ไอ เหนื่อยหอบ หายใจขัด หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก หากมีอาการเหล่านี้ขอให้รีบไปพบแพทย์รับการรักษา หรือแจ้งอสม.หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อประสานขอรับความช่วยเหลือโดยเร็ว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่ออีกว่า สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมที่กำลังจะมาถึง เช่น จังหวัดในภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นเส้นทางผ่านของลำน้ำชีและลำน้ำมูล ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ควรติดตามข้อมูลการเตือนภัยของหน่วยราชการในท้องถิ่น และขอให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้า โดยสำรวจบ้านเรือน เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งของเครื่องใช้ไว้ในที่สูง โดยเฉพาะปลั๊กไฟเพราะอาจเกิดไฟดูดไฟช็อตได้
สิ่งสำคัญที่ควรเตรียมไว้ให้พร้อมคือน้ำสะอาด เช่น นำน้ำมาบรรจุในถุงพลาสติกใหญ่ๆ มัดปากถุงให้แน่นแล้วใส่ถังหรือโอ่งไว้อีกชั้นหนึ่ง ป้องกันน้ำท่วมเข้าไปปะปนกับน้ำสะอาดที่มีอยู่ เตรียมยาสามัญประจำบ้าน ขี้ผึ้งทาแผล ขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า ถุงดำ รองเท้าบู๊ท เสื้อผ้า อาหารแห้ง ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ และของใช้ที่จำเป็นใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่น แล้วแขวนเก็บไว้ในที่สูง นอกจากนี้ ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการ หากมีผู้สูงอายุ เด็ก หญิงมีครรภ์ให้ย้ายไปอยู่ที่จุดอพยพ เพื่อลดความเสี่ยงเสียชีวิตหากเกิดน้ำท่วมขึ้น นายแพทย์ณรงค์กล่าว
  ********************************  22 ตุลาคม 2553


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ