แนะประชาชนทำส้วมชั่วคราวใช้เอง ส่วนยอดผู้ประสบภัยป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 120,000 ราย เครียดจัด 168 ราย เสียชีวิต 59 ราย ส่วนใหญ่จมน้ำ

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้าวันนี้ (27 ตุลาคม 2553) ว่า ขณะนี้มีผู้ประสบภัยเจ็บป่วยได้รับการรักษาที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่แล้ว 122,000 ราย มีผู้เสียชีวิต 59 ราย วานนี้เพิ่มอีก 3 ราย ที่ จ.สระบุรี ชัยนาท และพิจิตร โดย 52 รายเสียชีวิตจากการจมน้ำ คิดเป็นร้อยละ 88 เมื่อตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตพบว่าหลายรายป้องกันได้ โดยให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง การออกจากบ้านขณะน้ำหลากไหลเชี่ยว การอุ้มเด็กเล็กฝ่ากระแสน้ำ การออกหาปลา ขอเตือนประชาชนให้ดูแลตัวเอง อย่าพาตัวองไปอยู่ในภาวะเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ในส่วนสถานบริการสาธารณสุขในสังกัด ได้รับความเสียหาย 42 แห่ง โดย 3 แห่งใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลชัยภูมิ และโรงพยาบาลพิมาย ทุกแห่งเปิดบริการได้ตามปกติแล้ว
          นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่เร่งรัดโดยด่วนที่สุดคือ ยาชุดน้ำท่วม ซึ่งแจกไปพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศแล้ว 3 แสนชุด ยังมีความต้องการอีกมาก ทั้งยาชุดน้ำท่วมและยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งจะให้อยู่ในชุดเดียวกัน ที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรมที่เป็นหน่วยผลิตหลัก ผลิตได้ 2 หมื่นชุดต่อวัน วันนี้ได้สั่งเพิ่มการผลิตให้ได้วันละ 1 แสนชุด และภายใน 5 วันจะผลิตให้ได้ 9 แสนชุด และจะเร่งกระจายให้ถึงพื้นที่โดยเร็วที่สุดตามคำสั่งของประธานศูนย์อำนวยการฯ โดยในยาชุดน้ำท่วม ประกอบด้วย ยาลดไข้ ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ยารักษาโรคผิวหนังอื่นๆ       นอกจากนี้ จะเร่งกระจายถุงดำ เพื่อใช้ใส่อุจจาระไม่ให้ประชาชนถ่ายลงน้ำ โดยกรมอนามัยได้แจกถุงดำไปแล้ว 3.6 แสนถุง สิ่งอยากแนะนำประชาชนคือการทำสุขาชั่วคราวใช้เอง โดยใช้กล่องกระดาษเจาะรูแล้วใส่ถุงดำรองรับอุจจาระแทนโถส้วม ถุงดำที่แจกจะมีเชือกไว้สำหรับรัดปากถุงหลังใช้งาน และเก็บรวบรวมไว้รอการกำจัดต่อไป
                  
                                             
 
          นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่จะเร่งดำเนินการต่อไปคือการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคหลังน้ำท่วม 6 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัด ไข้เลือดออก ฉี่หนู หัดและเครียด ซึ่งขณะนี้พบผู้มีภาวะเครียดที่ต้องติดตามดูแลใกล้ชิด 168 ราย ได้มอบให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จัดเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตร่วมเยียวยาด้วยทุกครั้ง นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้เฝ้าระวังโรงพยาบาล ที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก ชี มูล ให้เตรียมป้องกันไม่ให้น้ำท่วมโรงพยาบาล ตามนโยบายที่มอบไว้ 4 แผนหลัก ซึ่งใน กทม.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มี 19 แห่งที่เสี่ยง และให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปเยี่ยมผู้ประสบภัยถึงบ้าน ในพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารเดินทางออกมารับบริการได้ พร้อมทั้งสำรวจค้นหา ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์ ผู้พิการ เด็กเล็ก นำมาไว้ในที่ปลอดภัย และส่งทีมแพทย์ดูแลต่อเนื่อง
         
************************************************** 27 ตุลาคม 2553


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ