วันนี้ (28 ตุลาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในวันนี้ที่ประชุมวอร์รูมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้เฝ้าระวัง 2 จุดคือ จุดแรกคือลุ่มแม่น้ำชี และลุ่มแม่น้ำมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัดคือ ยโสธร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และสุรินทร์ เนื่องจากปริมาณน้ำเริ่มมากขึ้น จุดที่ 2 คือพื้นที่ภาคใต้ เพราะมีร่องมรสุมพาดผ่าน ได้สั่งการให้จัดทำแผนรองรับ 4 แผนงานโดยกำชับให้ทำอย่างเข้มข้น คือ 1.แผนงานป้องกันไม่ให้น้ำท่วมโรงพยาบาล 2.แผนเตรียมทรัพยากรที่จำเป็น เช่น ออกซิเจน เครื่องมือสำหรับดูแลผู้ป่วย 3.แผนการส่งต่อผู้ป่วย หากอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถให้บริการได้ 4.แผนการปรับรูปแบบการให้บริการเช่น บริการ 4 มุมเมือง การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ได้ส่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดค้นหากลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก โดยประสานทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยกู้ชีพตำบลและอสม.เพื่อขนย้ายกลุ่มดังกล่าวมาอยู่ที่ปลอดภัย ส่วนโรงพยาบาล 4 แห่งที่ถูกน้ำท่วมได้แก่ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ชัยภูมิ รพ.พิมายและรพ.จิตเวชนคราชสีมา สามารถบริการได้ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง ได้ให้ 3 หน่วยงานคือ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต บูรณาการทำแผนฟื้นฟูร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อควบคุมป้องกันโรค กำจัดยุง แมลงวัน หนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ดูแลความสะอาดระบบสุขาภิบาลทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ ส้วม การกำจัดกลิ่นน้ำเน่าเสีย การล้างฆ่าเชื้อตลาดสด และการฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ประสบภัย โดยเมื่อวานนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาชุดน้ำท่วมไปจังหวัดประสบภัย 20,000 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 40,000 หลอด วันนี้จัดส่งไปอีก 100,000 ชุด กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ
ส่วนผลการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เฉพาะในวันที่ 27 ตุลาคม 2553 มีผู้ป่วยมารับบริการรวม 24,936 ราย ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 20-27 ตุลาคม 2553 รวม 8 วัน มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน 1,999 ครั้ง พบผู้เจ็บป่วย 180,203 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 คือน้ำกัดเท้า 88,299 ราย ที่เหลือเป็นไข้หวัด ปวดเมื่อยร่างกาย และพบผู้ที่มีความเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวลร้อยละ 12 หรือประมาณ 21,000 คน ในจำนวนนี้มีความเครียดในระดับรุนแรง และมีซึมเศร้าร่วมด้วย 203 ราย และมีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย 58 ราย ซึ่งจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและให้ญาติช่วยดูแลเป็นพิเศษ อย่าให้อยู่คนเดียว จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 68 ราย เป็นชาย 54 ราย หญิง 14 ราย เมื่อวานนี้เสียชีวิตเพิ่ม 9 ราย คือ ที่นครสวรรค์ 3 ราย นนทบุรี 2 ราย ลพบุรี สระบุรี ชัยภูมิ สุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่จมน้ำ ส่วนโรคระบาดหลังน้ำท่วมยังไม่มีการระบาดเกิดขึ้น
นายจุรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า จนถึงขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดส่งยาไปสนับสนุนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 33 จังหวัดแล้ว 640,000 ชุด มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ได้ให้องค์การเภสัชกรรมเร่งกำลังการผลิตให้ได้วันละ 1 แสนชุด เพื่อส่งลงพื้นที่น้ำท่วมทั้งพื้นที่เก่าและใหม่โดยเร็วที่สุด....
********************************* 28 ตุลาคม 2553