ผู้ประสบภัยทั้งกายและจิตใจ ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคและปรับปรุงสุขอนามัยสิ่งแวดล้อม 

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้าวันนี้ (30 ตุลาคม 2553) ว่า วันนี้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนในการฟื้นฟูสภาพหลังน้ำลด 2 แผนงานหลักได้แก่ 1.แผนฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของผู้ประสบภัย 2.แผนฟื้นฟูสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 176 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 5 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 4 แห่งและสถานีอนามัย 167 แห่ง คาดว่าใช้งบประมาณ 125 ล้านบาท

          นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับแผนฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของประชาชนและผู้ประสบภัย ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก 11 กิจกรรม ที่ต้องเร่งดำเนินงานในทันที่ ได้แก่ 1.มาตรการด้านการฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย กิจกรรมที่สำคัญ ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดออกหน่วยเคลื่อนที่ค้นหาผู้ป่วย โดยจะต้องให้การรักษาทันที ถ้าจำเป็นต้องส่งตัวรักษาต่อให้ส่งต่อทันที รวมทั้งให้ความรู้ในการปฎิบัติตนเพื่อดูแลสุขภาพตนเองหลังน้ำลดด้วยควบคู่กันไป 2.มาตรการในการควบคุมโรค เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังน้ำลดถ้าไม่ดูแลให้ดีอาจเกิดโรคระบาดตามมา ได้มีการกำหนดกิจกรรมที่ทุกจังหวัดต้องดำเนินการ เช่นการออกหน่วยกำจัดยุง หรือพาหะนำโรคอื่นๆ รวมทั้งการกำจัดแมลงวัน ซึ่งต้องมีการฉีดพ่นทำลายหนอนแมลงวัน โดยเฉพาะในกองขยะและสิ่งปฎิกูล ต่างๆ รวมทั้งสอนวิธีป้องกันดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วย ที่เป็นห่วงมากคือโรคฉี่หนู เช่น การสอนประชาชนให้ทำรองเท้าบู๊ทใช้เองจากถุงดำ
                      
                      
3.มาตรการด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นกิจกรรมสำคัญ 2 ส่วน คือ กิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ อย่างถูกวิธีและถูกสุขลักษณะ เช่น สุขา ที่อยู่อาศัย ตลาดสด และสถานที่สาธารณะอื่นๆเป็นต้น รวมทั้งอีกกิจกรรมที่เน้นเป็นพิเศษคือการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ ทั้งน้ำกิน น้ำใช้และแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งจะมีมาตรการที่แตกต่างกันไป เช่น การใช้คลอรีน การใช้อีเอ็ม เป็นต้น เข้าไปช่วย ซึ่งแผนงานทั้งหมดนี้ ได้มีการซักซ้อมทำความเข้าใจกันแล้ว ต่อไปนี้ต้องลงมือปฎิบัติตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปในทุกจังหวัดที่มีน้ำท่วม สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่จะเข้าไปฟื้นฟู มี 24 จังหวัด 1,631 ตำบล ขณะนี้ทยอยดำเนินการแล้ว
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับสารอีเอ็ม ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม สามารถใช้ได้ทั้งในครัวเรือนและแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น กรณีสุขา หลังน้ำลดจะมีปัญหาการย่อยสลาย ใช้อีเอ็มผสมน้ำราดลงจะช่วยให้ย่อยสลายได้ดีขึ้น รวมทั้งแหล่งน้ำสาธารณะที่มีน้ำขังที่เริ่มเน่าเสีย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเป็นผู้สำรวจ พิจารณาดำเนินการ แนะนำวิธีใช้ รวมทั้งแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป      
 
ส่วนยอดผู้เสียชีวิต ขณะนี้ได้มีการสั่งการให้ตรวจสอบอีกครั้งเพื่อความเที่ยงตรงว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เกิดจากสาเหตุน้ำท่วมจริงๆ มีจำนวนเท่าไหร่ ณ วันนี้ผู้เสียชีวิตมีอยู่ 101 ราย ในจำนวนนี้ 90 รายสาเหตุการเสียชีวิตจากการจมน้ำ แต่อีก 11 ราย ศูนย์ปฎิบัติการฯ ต้องตรวจสอบอีกครั้ง ว่าเกิดจากน้ำท่วมหรือไม่ ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตั้งแต่ 20-29 ตุลาคม 2553 ออกหน่วย 2,419 ครั้ง มีผู้มารับบริการ 243,593 คน
 *************************************************** 30 ตุลาคม 2553
 
 


   
   


View 15    30/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ