บ่ายวันนี้ (23 พฤศจิกายน 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวการจับแหล่งผลิต ลักลอบนำเข้าจำหน่ายยาปลอมรายใหญ่ที่ตึกแถว 4 ชั้น 1 คูหา เลขที่ 21/61 หมู่บ้านขุนทองเพชรเกษม ถนนกาญจนาภิเษก เขตบางแค กทม. ว่า การจับกุมวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ อย.กับตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคในการร่วมกันจับกุมแหล่งนำเข้าจำหน่ายยาปลอมแห่งนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มยาสำหรับใช้ทำแท้งคือยาไมโซโพรสทอล (Misoprostol) ซึ่งเป็นยาไซโตรอกซ์ (Cytolog) ตัวเดียวกับไซโตเทค ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นยาที่ไม่อนุญาตให้ใช้ทำแท้ง สำหรับไซโตเทค เคยจับกุมมาแล้วครั้งหนึ่งที่จังหวัดตราด ซึ่งขายผ่านเว็บไซต์ ตัวยาดังกล่าวอนุญาตให้ใช้รักษาโรคกระเพาะ แต่นำไปใช้ในการทำแท้ง ถือว่าผิดกฎหมาย

 

 

นายจุรินทร์กล่าวว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นการจับกุมล็อตใหญ่ครั้งหนึ่ง มูลค่าเฉพาะยาทำแท้งคาดว่าประมาณ 10-15 ล้านบาท และเป็นกรณีที่แตกต่างจากทุกครั้งที่จับกุมแต่ละครั้ง คือมีการลักลอบนำเข้ามาในลักษณะบรรจุเสร็จคือเป็นแผงเสร็จแล้ว แต่ครั้งนี้ลักลอบนำเข้ามาเป็นกล่อง เป็นลัง เป็นถุง แล้วมาแบ่งบรรจุที่นี่  ซึ่งก็มีทั้งฟรอยบรรจุและเอกสารกำกับยา   นอกจากนี้ยังพบยาอีก 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1. เป็นยาใช้ลดความอ้วนปลอม 2. กลุ่มรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 3. ยาลดไขมัน 4. ยารักษาตุ่มลูกหมาก 5. ยาแก้อักเสบ เมื่อรวมกับยาทำแท้งด้วยมีทั้งหมด 6 กลุ่ม มูลค่าประเมินเบื้องต้น 20-30 ล้านบาท   โดยจับกุมผู้ลักลอบได้ 1 รายเป็นชาย อย่างไรก็ตามก็มีรายชื่อเจ้าของบ้านตามทะเบียนบ้านว่าเป็นใคร  ก็จะต้องขยายผลต่อไป  
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่สอบถามแหล่งจำหน่ายจากเลขาธิการ อย.คงไม่ถึงกับจำหน่ายในร้านยา แต่อาจจะมีการส่งตามคลินิกต่าง ๆ ซึ่งจะต้องติดตามขยายผลต่อไป แต่ที่สำคัญก็คือ ยาชนิดนี้ห้ามใช้ในการทำแท้ง ถือว่าผิดกฎหมาย และแหล่งที่ตรวจพบวันนี้ถือว่าทั้งผลิตและจำหน่ายยาปลอม โดยดำเนินคดีใน 4 ข้อหา ได้แก่ 1. ผลิต/ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท 2. ผลิต/ขายหรือนำเข้ายาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ขายยาปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท 4. ผลิตยาปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท
 
                ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หลังจากการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้ายาปลอมรายใหญ่ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เมื่อเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมา ต่อมาได้ขยายผลการสืบสวน พบว่ามีแหล่งลักลอบผลิต นำเข้า และจำหน่ายยาปลอม ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกัน  ดังนั้น เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ ตำรวจ บก.ปคบ. จึงได้ล่อซื้อยาที่คาดว่าผิดกฎหมาย และได้ติดตามจนพบแหล่งผลิต  เก็บ และจำหน่ายยา จำนวน 4 แห่ง อยู่ที่ย่านบางแคจำนวน 3 แห่ง และอยู่ในย่านมีนบุรี จำนวน 1 แห่ง   ซึ่งที่ตึกแถว 4 ชั้น เลขที่ 21/61 หมู่บ้านขุนทองเพชรเกษม ถนนกาญจนาภิเษก เขตบางแค กรุงเทพฯนี้ เป็นจุดใหญ่ ที่คาดว่ามีการผลิต เก็บ และจำหน่ายยาปลอม       ผลการเข้าตรวจปรากฏพบวัตถุดิบตัวยาสำคัญที่ใช้ในการผลิตยา เครื่องจักร เครื่องเคลือบยา   แคปซูลเปล่า  กล่องสำหรับบรรจุยา และฉลากยาจำนวนมาก  ยาที่ตรวจพบทั้งหมดเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และยาบางส่วนลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนใหญ่เป็นยามาจากประเทศอินเดีย
 
          กลุ่มยายึดได้จากการตรวจจับ มีรายละเอียด ดังนี้ 1.ยาที่ใช้ในการทำแท้ง พบกว่าแสนเม็ด ซึ่งยาทั้ง 2 รายการนี้ไม่อนุญาตให้ใช้สำหรับทำแท้งแต่อย่างใด ได้แก่ ยาไซโตรอกซ์ (Cytolog) มีตัวยาสำคัญ คือ ไมโซโพรสทอล (Misoprostol) ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกับยาไซโตเทค พบ 380 แผง แผงละ 8 เม็ด และยาที่ใช้ร่วมในการทำแท้ง มีชื่อการค้า คือ เอ็มทีพิล (Mtpill) พบ 500 กล่อง กล่องละ 3 เม็ด มีตัวยาคือไมฟ์พริสโตน ( Mifepristone) 2.ยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช่น ยาไวอากร้า( Viagra), ยาเซียอะลิส (Cialis), ยาเลวิทร้า(Levitra) และยาคามา กร้า(Kamagra) 3.ยาลดความอ้วน ที่มีตัวยาไซบูทรามีน เป็นส่วนผสม เช่น รีดักทิล (Reductil) ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกทะเบียนตำรับยาแล้ว และ ยาลดความอ้วนออลิสแตท( Orlistat) 4.ยาแก้อักเสบตามข้อซีรีคอกซิป (Celecoxib) แคปซูล ชื่อการค้าซีรีพอล-200(Celepol – 200) 5.ยาลดไขมัน และ6. ยาแก้สิว เป็นต้น ยาที่ตรวจพบครั้งนี้ นำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในราคาสูง ประมาณ 2,000 – 3,000 บาท ต่อกล่อง จึงยึดของกลางทั้งหมด
 
          เลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่าขอเตือนยังหญิงสาว อย่าหาซื้อยาทำแท้งมาใช้เอง เพราะเป็นยาที่ผิดกฎหมาย และยังไม่มียาใดที่ อย. อนุญาตให้ใช้ในการทำแท้ง  อาจทำให้ร่างกายได้รับอันตรายได้  นอกจากนี้ประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อยาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือมาใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร  อย่าซื้อยากับบุคคลแปลกหน้า รวมทั้งอย่าซื้อยาตามร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกร เพราะอาจได้รับยาเลียนแบบและยาปลอม เพราะนอกจากรักษาไม่หายแล้ว ยังเสียเงินจำนวนมาก และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
 
ขอเตือนร้านขายยาและผู้ผลิต และผู้จำหน่ายยาทุกราย อย่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ที่สำคัญควรมีคุณธรรม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด  เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มิให้มีการลักลอบจำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของ อย. จะมิให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของ อย. โดยจะมิให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งขอให้ผู้บริโภคช่วยเป็นหูเป็นตาให้แก่ อย. หากพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าผิดกฎหมาย ทางอย.จะมีสินบนรางวัลนำจับให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส ขอให้แจ้งมายังสายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล์ : 1556@fda.moph.go.thหรือส่งจดหมายไปยัง  ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือแจ้งเบาะแสได้ด้วยตนเองที่ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตึก อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ในวันและเวลาราชการ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือที่ บก.ปคบ. ตู้ ปณ. 459 ปณศ. สามเสนใน พญาไท กทม. 10400 นายแพทย์พิพัฒน์กล่าว
 *************************************   23 พฤศจิกายน 2553                           
 
          
 


   
   


View 12    23/11/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ