สาธารณสุขเดินหน้าป้องกันและลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เร่งปลูกฝังจริยธรรมบุคลากรสายพยาบาลนำร่องวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก 5 แห่ง จัดการศึกษาพยาบาลแนวใหม่ ดูแลผู้ใช้บริการว่าเป็นเสมือนญาติ หวังสร้างพยาบาลวิชาชีพรุ่นใหม่ที่มีหัวใจเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม

          วันนี้  (1 ธันวาคม 2553)  ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ทนงสรรค์  สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการเรื่อง “ตลาดนัดความดีสู่จิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ภายใต้นวัตกรรมระบบครอบครัวเสมือน” จัดโดยแก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2553 มีบุคลากรสาธารณสุข สมาชิกชมรมจริยธรรม อาจารย์ นักศึกษาวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สถาบันการศึกษาต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 1,000 คน

          นายแพทย์ทนงสรรค์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขและป้องกันปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขผู้ให้บริการกับประชาชนผู้รับบริการซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งเร่งลดปัญหาการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งมีทั้งร้องผ่านสื่อมวลชน และผ่านทางตู้รับเรื่องร้องเรียนของสถานบริการโดยตรง โดยจะเริ่มปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่บุคลากรทุกระดับตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2550 - 2554 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะใช้กับบุคลากรทุกระดับที่ปฏิบัติงานในขณะนี้ประมาณ 2 แสนกว่าคน และนักศึกษาสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษา 37 แห่ง สังกัดสถาบันพระบรมราชชนกที่ผลิตปีละประมาณ 6,000 คน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ บุคลากรทุกคนมีคุณธรรม รู้รักสามัคคี มีชีวิตพอเพียง จิตใจเข้มแข็งและมีความสุข  

สำหรับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในกลุ่มนักศึกษา จะเน้นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการระหว่างวิชาการ กิจกรรมพัฒนา ให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณสมบัติ เก่ง ดี มีความสุข ในปีงบประมาณ 2554 นี้ได้นำร่องการสอนนักศึกษาพยาบาลในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี 5 แห่งได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจักรีรัช ราชบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีชลบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราช เนื่องจากพยาบาลถือว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการมากกว่าบุคลากรอื่นๆ โดยนำระบบครอบครัวเสมือนมาใช้ ให้นักศึกษาทุกคนดูแลผู้ให้บริการเปรียบเสมือนว่าเป็นญาติใกล้ชิดหรือเป็นคนครอบครัวเดียวกับนักศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดสายใยแห่งความเอื้ออาทรขึ้นในจิตใจ และพฤติกรรมที่แสดงออก เพื่อให้ผู้รับบริการพึงพอใจ และได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด   ซึ่งจะเริ่มฝึกนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 -ปีที่ 4        

          นายแพทย์ทนงสรรค์ กล่าวต่อไปว่า การจัดการเรียนการสอนดังกล่าว จัดว่าเป็นการเพาะบ่มให้นักศึกษาพยาบาลที่จบออกมาปฏิบัติงานเป็นผู้ที่มีคุณธรรม  มีความรักในผู้อื่นเหมือนเป็นญาติพี่น้องครอบครัวเดียวกัน รู้จักการบริการผู้อื่นอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติและรู้จักสำนึกในบุญคุณของคนอื่น โดยจะนำระบบนี้ ขยายผลสู่ชุมชนโดยเน้นพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ด้วย

    ..............................     1 ธันวาคม 2553

 


   
   


View 11    01/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ