วันนี้ (1 ธันวาคม 2553) ที่โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร  ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมมาลาเรียนานาชาติ 2010 (International Malaria colloquium 2010: IMC 2010) ในหัวข้อ ความท้าทายและความหวังใหม่ ในการควบคุมโรคมาลาเรีย จัดระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2553 ในโอกาสครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งโครงการมาลาเรียแห่งประเทศไทย และครบรอบ 50 ปี ของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหามาลาเรียและการดำเนินงานในอนาคต มีผู้ร่วมประชุมจากทั่วโลกทุกภูมิภาค อาทิ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคมาลาเรีย นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ จีน อินโดนีเซีย อูกานดา เวียดนาม กัมพูชา ลาว และประเทศไทย ประมาณ 700 คน

ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ขณะนี้โรคมาลาเรียเป็นปัญหาการเจ็บป่วย-เสียชีวิตใน 108 ประเทศทั่วโลกในแถบเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลางและยุโรป ล่าสุดในปี 2552 องค์การอนามัยโลกรายงานมีผู้ป่วยรวมทั้งไทยด้วยประมาณ 250 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กในแถบทวีปแอฟริกา โดยเสียชีวิตทุก 30 วินาที หรือเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 5 ของเด็กทั้งหมด โดยมีประชากรที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไข้มาลาเรีย ประมาณ 3,300 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อันตรายของโรคมาลาเรีย นอกจากทำให้คนทุกวัยเสี่ยงติดเชื้อเท่ากันแล้ว หากเกิดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จะมีปัญหาถึงทารกในครรภ์ อาจทำให้แท้ง หรือทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน เด็กตายในครรภ์ ปัญหาโลหิตจาง เฉพาะที่แอฟริกา ต่อปีจะมีหญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย 10,000 คน และมีเด็กเสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย 200,000 คน จึงต้องมีความร่วมมือกันแก้ไขปัญหา พัฒนาวิชาการทั้งการรักษา การวิจัยตัวยาใหม่ รวมทั้งการพัฒนาสารเคมีกำจัดยุงก้นปล่อง ตัวพาหะแพร่เชื้อโรคมาลาเรีย     

ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรคมาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่น มานานประมาณ 100 ปี ประเทศไทยโดยความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกและประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้งโครงการควบคุมโรคมาลาเรียขึ้น เมื่อ60 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ป่วยลดลงอย่างมาก ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข 10 อันดับแรก โดยจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียของไทยคิดเป็นร้อยละ 7 ของผู้ป่วยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือร้อยละ 4 ของผู้ป่วยในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ที่ผ่านมาไทยมีมาตรการที่ดีอาทิ เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับสูตรยารักษา โดยร่วมมือกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยยารักษาโรคมาลาเรีย ใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้เรื่องโรคมาลาเรีย และเจาะเลือดตรวจวินิจฉัย การฝึกอบรมบุคลากรด้านโรคมาลาเรีย เป็นต้น ที่สำคัญการดำเนินการแบบบูรณาการโดยประชาชน ชุมชนน่าจะเป็นทางแห่งความสำเร็จของการกำจัดโรคมาลาเรีย และการร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องกับองค์กรต่างๆทั้งในประเทศและระหว่างประเทศทำให้เราเชื่อมั่นว่าจะต่อสู้กับโรคนี้ได้

ทางด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยมาลาเรียของไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 มีทั้งหมด 38,189 ราย เป็นชาวไทย 20,124 ราย และต่างชาติ 18,065 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียชาวไทยมากที่สุดคือ ตาก 4,861 ราย รองลงมาคือยะลา 2,501 ราย ชุมพร 1,836 รายกาญจนบุรี 1,234 ราย แม่ฮ่องสอน 1,205 ราย สำหรับพื้นที่ที่พบผู้ป่วยต่างชาติมากที่สุดคือตาก 11,958 ราย รองลงมาคือกาญจนบุรี 1,715 ราย ระนอง 1,071 ราย แม่ฮ่องสอน 593 ราย พังงา 516 ราย

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียในช่วง 10 เดือนของปี พ.ศ.2553 กับปีที่แล้ว พบจำนวนผู้ป่วยไทยในปีพ.ศ. 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แต่ผู้ป่วยต่างชาติลดลงร้อยละ 19 โดยแนวโน้มของโรคมาลาเรียในประเทศไทยบางพื้นที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะบางจังหวัดที่มีแรงงานต่างชาติเพิ่ม ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และเพชรบุรี จึงต้องเพิ่มการเฝ้าระวังผู้ป่วยมาลาเรียในพื้นที่ดังกล่าว 

 ***************************************** 1 ธันวาคม 2553


   
   


View 11    01/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ