รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยเกษตรกรไทยมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชสูงขึ้น ออกนโยบายจัดโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัยเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา ชู“รางจืดเป็นสมุนไพรล้างพิษ” เตรียมรณรงค์ 5 ภาค ดีเดย์ 20 ธันวาคม 2553

          วันนี้ (3 ธันวาคม 2553) ที่โรงแรมมิราเคิล กทม.  ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษเรื่อง“การขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ    กายจิตผ่องใส” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แก่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ จำนวน 320 คน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในปี 2554

ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มอาชีพที่มีอัตราสูงมากที่สุดของประเทศคือประมาณ 14.1 ล้านคน และเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเนื่องจากปัจจุบันมีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น จากผลการสุ่มตรวจตัวอย่างผัก ผลไม้สดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปี 2552 พบมีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างร้อยละ 28 จึงต้องเร่งดำเนินการดูแลสุขภาพกลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และผู้บริโภคพืช ผัก ผลไม้ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง อาจได้รับการสะสมสารตกค้างเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุข จึงได้บูรณาการกรมภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 4 กรม ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมจัดทำโครงการ “เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” ขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา โดยให้ รพ.สต.จำนวน 840 แห่ง ร่วมกับ อสม.จำนวน 84,000 คน ดำเนินการคัดกรองประเมินความเสี่ยงของเกษตรกรจำนวน 840,000 คน 

                     

ในโครงการนี้ จะมีการนำสมุนไพร รางจืด มาใช้ในการดูแลรักษาเกษตรกรกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ซึ่งมีพิษเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยมีผลต่อระบบประสาท ทำให้คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย มึนงง ชักหมดสติอาจเสียชีวิตได้ เกษตรกรที่ตรวจพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง จะได้รับชาชงรางจืดชงดื่มวันละ 6 กรัม ประมาณ 4-5 แก้วต่อวัน เพื่อขับสารพิษออกจากร่างกาย ถือว่าเป็นการส่งเสริมการใช้สมุนไพรถึงระดับครัวเรือนในการถอนพิษเกษตรกรเพราะมีการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการหลายสถาบันเกี่ยวกับสมุนไพรรางจืดพบว่า สามารถรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตได้ผลดี และจากสารพิษของแมงดาทะเล ซึ่งพบว่าสามารถช่วยถอนพิษผู้ป่วยระยะวิกฤตระดับ 4 จำนวน 2 รายในขณะที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและรูม่านตาไม่ตอบสนอง ให้กลับฟื้นเป็นปกติได้หลังได้รับสารสกัดสมุนไพรรางจืดในรูปของน้ำจากใบรางจืดเป็นเวลา 40 นาที 

ตามตำรายาไทย นำใบสดรางจืดที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป 10 – 12 ใบโขลกให้แหลกผสมน้ำเปล่าหรือน้ำซาวข้าว คั้นน้ำดื่ม หรือทำเป็นชาใบรางจืดโดยนำมาหั่นฝอยตากแดดให้แห้งชงน้ำร้อนดื่มแทนน้ำวันละ 4 – 5 แก้ว สามารถใช้แก้ไข้ ถอนพิษยาฆ่าแมลง และยังช่วยจับสารพิษในตับหรือล้างพิษในตับด้วยรางจืดเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็ว จึงอยากรณรงค์ให้ชุมชนต่าง ๆ ทุกครัวเรือนปลูกไว้ใช้เอง 

                     

รางจืดเป็นสมุนไพรไม้เถา มีหลายชื่อ เช่น ยาเขียว, เครือเขาเขียว, กำลังช้างเผือก, หนามแน่, ย้ำแย้, น้ำนอง, คาย, ดุเหว่า, รางเย็น, ทิดพุด, แอดแอและขอบชะนาง เถาอ่อนสีเขียวเป็นมัน หาได้ง่ายในแถบชนบทมักเลื้อยพาดพันไปบนต้นไม้อื่น มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 6 เดือน – 1 ปี สมุนไพรชนิดนี้ต้องกินหลังจากการใช้ยาฆ่าแมลงมาแล้ว หากกินก่อนใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันจะไม่ได้ผลโดยพิษของยากำจัดศัตรูพืชจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอกหายใจลำบาก

โครงการนี้จะจัดกิจกรรมรณรงค์ 5 ภาค คือ จังหวัดปทุมธานี  เพชรบูรณ์  ระยอง บุรีรัมย์   และสงขลา     เริ่มแห่งแรกที่ตลาดไท  รังสิตปทุมธานี  ในวันที่  20  ธันวาคม  2553

          ...................................................       3 ธันวาคม 2553

 
 
 


   
   


View 9    03/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ