รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันกฎหมายรองรับการแพทย์โฮมีโอพาธีย์ และยาสมุนไพรที่ใช้กว่า 1,000 ตำรับ ให้ประชาชนใช้บริการปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเข้าคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ พร้อมผลักดันเข้าสู่หลักประกันสุขภาพ มั่นใจประหยัดค่าใช้จ่ายรัฐลง 10 เท่าตัว

วันนี้ (9 ธันวาคม 2553) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานคลินิกโฮมีโอพาธีย์ (Homoeopathy) ซึ่งเป็นการแพทย์ทางเลือก ที่โรงพยาบาลสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์  
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายผลักดันการแพทย์ทางเลือก ให้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพประชาชนไทยให้มากขึ้นควบคู่ระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ผ่านมาการแพทย์ทางเลือกมีการนำมาใช้ในประเทศไทยหลายสาขา ทั้งการรักษาอาการเจ็บป่วย การส่งเสริมสุขภาพ เช่น การแพทย์แผนจีน โยคะ การแพทย์จัดกระดูก สมาธิบำบัด ชี่กง ซึ่งระบบการแพทย์ทางเลือกที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา มีกฎหมายรองรับ ได้แก่ การแพทย์แผนจีน และโฮมีโอพาธีย์  ที่ผ่านมาในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตเฉพาะการแพทย์แผนจีนให้สามารถมีใบประกอบโรคศิลปะได้สาขาเดียว ขณะนี้มีแพทย์แผนจีนที่มีใบประกอบโรคศิลปะได้ทั่วประเทศ 320 คน  
สำหรับการแพทย์โฮมีโอพาธีย์ เป็นการแพทย์ที่เน้นการรักษาอาการป่วยเป็นหลัก ซึ่งจะมีการซักประวัติอาการผู้ป่วยโดยละเอียดใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งขึ้นไป ทั่วโลกมีผู้นิยมบำบัดการแพทย์สาขานี้ติดอันดับ 1 ใน 5 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ทั้งยุโรป อเมริกาใต้ เอเชียใต้ และออสเตรเลีย มีการนำสมุนไพรมาใช้ไม่น้อยกว่า 3,000 ตำรับ โดยมีกฎหมายรับรองแล้ว 16 ประเทศทั่วโลก และมีการนำเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพในหลายประเทศ เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อาร์เจนติน่า เม็กซิโก อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา เป็นต้น
 ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีการใช้การแพทย์สาขานี้ ในกลุ่มของผู้มีความรู้และมีฐานะ กระทรวงสาธารณสุขไทยมีนโยบายจะผลักดันให้มีกฎหมายรองรับการแพทย์โฮมีโอพาธีย์ และนำมาใช้ในการรักษาประชาชนทั่วไป โดยจะผลักดันให้ยาสมุนไพรที่ใช้ในการแพทย์ดังกล่าว ซึ่งมีกว่า 1,000 ตำรับ ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาของอย.ด้วย เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆสามารถนำมาใช้อย่างกว้างขวาง และจะผลักดันให้การแพทย์สาขาดังกล่าวเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพเช่นเดียวกับการแพทย์แผนไทย  ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประหยัดเงินได้มาก อย่างเช่น กลุ่มยาแก้ปวดแก้อักเสบ ซึ่งมีการใช้ปีละหลายหมื่นล้านบาท  หากใช้การแพทย์โฮมีโอพาธีย์ จะประหยัดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 10 เท่าตัว ลดปัญหาการใช้ยาฟุ่มเฟือยลงได้ ขณะนี้ได้เตรียมนำเสนอคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะและคณะกรรมการยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว
ทั้งนี้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดสอนหลักสูตรโฮมีโอพาธีย์ในระดับประกาศนียบัตรแก่แพทย์แผนปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ปี 2551 โดยมีแพทย์จากยุโรปและอินเดีย มาสอนด้วย ขณะนี้มีแพทย์แผนปัจจุบันจบแล้ว 40 คน และนำไปเปิดบริการในโรงพยาบาลต่างๆ เช่นโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลสำโรงทาบ จากการติดตามผลเช่นที่โรงพยาบาลสำโรงทาบ มีผู้ป่วยเข้าคิวรอตรวจนานถึง 3 เดือน เป้าหมายต่อไปจะพัฒนาหลักสูตรให้ถึงระดับปริญญาโท โดยจะมีการศึกษาวิจัย อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบบริการสุขภาพต่อไป          
ด้านนายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า การแพทย์โฮมีโอพาธีย์ เป็นการรักษาตามแนวธรรมชาติ มีราคาประหยัด ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมีความปลอดภัยสูง เช่นพืชสมุนไพร สัตว์ แร่ธาตุ สารเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิหรือคลื่นพลังงานชีวิตที่มีอยู่แล้วในแต่ละบุคคล ทำให้เกิดกระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูสุขภาวะตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับหลักการให้วัคซีนป้องกันโรค ปริมาณยาที่ใช้ในผลิตภัณฑ์โฮมีโอพาธีย์ จะมีขนาดน้อยมาก โดยเจือจางด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์พร้อมกับการเขย่าผสมขึ้นลงในแนวดิ่ง จะเพิ่มความแรงและประสิทธิภาพยาให้สูงขึ้น ซึ่งต่างจากยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่ใช้ปริมาณของสารสำคัญเป็นตัวกำหนด
ทั้งนี้ สมุนไพรไทย ที่ใช้ในการแพทย์โฮมีโอพาธีย์ มีทั้งหมด 920 ชนิด แต่ที่นิยมใช้บ่อยมี 5 ชนิดได้แก่ ดาวเรืองฝรั่งใช้เพื่อห้ามเลือด ลดโอกาสติดเชื้อ   กูดขนใช้ลดไข้    ต้านแบคทีเรีย           อีหรุดแก้อาการฟกช้ำ พญามือเหล็กใช้บำบัดผู้ที่มีปัญหาจิตใจ  และแสลงใจใช้แก้ไข้  ขับน้ำย่อย ทำให้เจริญอาหาร

 ************************************************** 9 ธันวาคม 2553



   
   


View 11    09/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ