สาธารณสุข ประกาศให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศเป็นเขตสวมหมวกกันน็อค 100 เปอร์เซ็นต์ ขานรับทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนพ.ศ. 2554-2563 เผยสถิติปี 2552  มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 11,000 ราย โดยเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์กว่า 6,000 ราย เหตุเพราะไม่สวมหมวกกันน็อค ชี้ผลสำรวจการใช้หมวกกันน็อคในผู้ใช้รถจักรยานยนต์ปี 53 พบคนขับใส่เพียง 10 ล้านกว่าคน ส่วนคนซ้อนใส่เพียง 5  ล้านกว่าคน 

วันนี้ (13 ธันวาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี  ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายเทียนโชติ จงพีร์เพียร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางเครือข่ายลดอุบัติเหตุ สสส. แถลงข่าว “กิจกรรมรณรงค์ทศวรรษความปลอดภัยหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ จัดโดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ภายในงานมีภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดนิทรรศการและจำหน่ายหมวกนิรภัยครึ่งราคา และปล่อยขบวนวินมอเตอร์ไซด์กว่า 100 คัน เพื่อรณรงค์“ทศวรรษความปลอดภัยสวมหมวกนิรภัย 100%” รวมทั้งเปิดวินมอเตอร์ไซด์น้ำใจงาม สถานีกรมควบคุมโรค

                                                

               

ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ในปี 2554-2563 นี้ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และประเทศสมาชิกกว่า 150 ประเทศได้ให้การรับรองคำประกาศเจตนารมณ์ปฏิญญามอสโก และตั้งเป้าลดอัตราผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงเหลือร้อยละ 50 ภายในปี 2563 รัฐบาลไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกได้สนองตอบตามกรอบปฏิญญามอสโก ได้ประกาศให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และกำหนดเป้าหมายลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทย ให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2563 ซึ่งมาตรการสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันเป็นอันดับแรก คือ การส่งเสริมให้ผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ “สวมหมวกนิรภัย 100เปอร์เซ็นต์” กำหนดให้ปี 2554 เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง กำหนดพื้นที่ของหน่วยงานเป็นเขตสวมหมวกกันน็อค 100% ฉะนั้นผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องสวมหมวกทุกคน

ในการขานรับมาตรการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายกำหนดให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ   ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เป็นเขตสวมหมวกกันน็อค 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน ให้หัวหน้าส่วนราชการทุกแห่งกำชับให้ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ทุกคน ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายที่เดินทางผ่านเข้าออกบริเวณหน่วยงาน ทุกคนต้องสวมหมวกกันน็อคไม่ว่าจะขับใกล้หรือไกลก็ตาม   เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน

                  

                  

ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีคนไทยบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก สถิติในปี 2552 ของสำนักระบาดวิทยา มีผู้เสียชีวิต 11,751 คน เฉลี่ยวันละกว่า 30 คน คิดเป็นอัตราตาย 18 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าระดับสากลที่มีอัตราตายไม่เกิน 10 คนต่อประชากรแสนคน โดย 3 ใน 4 เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือกว่า 6,000 ราย ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเกิดจากบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่สวมหมวกกันน็อค และยังมีผู้บาดเจ็บจากรถจักยานยนต์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ปีละกว่า 7 แสนราย ค่ารักษาเฉพาะที่นอนโรงพยาบาลเป็นเงินปีละ 2,000 กว่าล้านบาท และครึ่งหนึ่งเป็นค่ารักษาของผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ

 

 

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อคของมูลนิธิไทยโรดส์ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2553 พบว่าผู้ขับใส่เพียงร้อยละ 60 ส่วนผู้โดยสารใส่เพียงร้อยละ 30 กล่าวคือในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 17 ล้านคันขณะนี้ มีคนขับที่ใส่หมวกฯเพียง 10 ล้านกว่าคน ส่วนคนซ้อนท้ายไม่ใส่มากถึง 12 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนจะสวมหมวกกันน็อคน้อยกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 3 เท่าตัว ช่วงกลางคืนจะสวมน้อยกว่ากลางวัน จึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์รักความปลอดภัยมากขึ้น โดยการสวมหมวกกันน็อคและคาดสายรัดคาง จะทำให้มีโอกาสรอดตายมากกว่าคนที่ไม่สวมถึง 4 เท่า และยังมีการศึกษาพบว่าผู้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อค จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่สวม

 

สำหรับบทเรียนความสำเร็จของหลายประเทศ ในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตและพิการจากอุบัติเหตุทางถนน อาทิเช่น ประเทศเวียดนาม มีการรณรงค์และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสัดส่วนของผู้ใช้หมวกกันน็อคเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 95  สามารถลดจำนวนผู้บาดเจ็บที่ศีรษะลงได้ร้อยละ 47  ลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนดำเนินการ องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าใน พ.ศ. 2545 อุบัติเหตุทางถนนคร่าชีวิตคนทั่วโลก 1.18 ล้านคน เฉลี่ยวันละประมาณ 3,242 ราย มากกว่าครึ่งหนึ่งมีอายุ 15-44 ปี บาดเจ็บอีกกว่า 20-50 ล้านคน พิการตลอดชีวิตอย่างน้อย 5 ล้านคน คาดในปี 2563 จำนวนผู้เสียชีวิตและคนพิการจากอุบัติเหตุจราจรจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 ขยับจากอันดับ 9 มาเป็นอันดับ 3 หากไม่มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

 **************************** 13 ธันวาคม 2553

 


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ