ให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่ 2 ธ.ค.ถึงวันนี้ยอดโทร 12,000 สาย

          บ่ายวันนี้ (14 ธันวาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อนามัยการเจริญพันธุ์ ว่าวันนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งกฏหมายฉบับนี้ให้ประโยชน์กับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน คือการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ถ้าเป็นสุภาพสตรีก็เริ่มตั้งแต่ช่วงมีประจำเดือนเป็นต้นไป จนกระทั่งเข้าสู่วัยทอง วัยผู้สูงอายุ เป็นต้น ช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นกฏหมายรับรองสิทธิทางเพศของคนทุกเพศในช่วงวัยเจริญพันธุ์ และรับรองสิทธิในการเข้าถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การได้รับคำปรึกษา และการได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์จากสถานบริการสาธารณสุขอย่างเหมาะสม มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงสาธารณสุขจะต้องจัดให้มีการให้คำปรึกษา หรือการให้บริการด้านสุขภาพทางเพศอย่างเหมาะสมและจะต้องรักษาข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งการที่จะต้องให้คำปรึกษาการให้บริการด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนด ส่วนกระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการสอนเพศศึกษาให้กับนักเรียน ให้เหมาะกับวุฒิภาวะและช่วงวัยของผู้เรียน ถ้าเป็นกรณีการตั้งครรภ์ระหว่างเรียน ก็สามารถเปิดโอกาสให้ศึกษาต่อไปได้ หรืออาจจะเลือกลาพัก เมื่อหลังคลอดแล้วก็กลับมาศึกษาต่อได้ ซึ่งกฏหมายได้บัญญัติให้สิทธิไว้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นพระราชบัญญัติที่สนับสนุนให้มีการตั้งครรภ์ระหว่างเรียน แต่หมายความว่าหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตามและเกิดตั้งครรภ์ระหว่างศึกษา ก็เปิดโอกาสให้ได้รับสิทธิในการศึกษาต่อได้ โดยเลือกที่จะเรียนต่อขณะตั้งครรภ์หรือพักจนหลังคลอดแล้วกลับมาเรียนใหม่

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานเอกชนเช่น โรงงาน บริษัท ห้างร้าน องค์กรของรัฐ ก็มีหน้าที่ตามกฎหมายนี้ คือจะต้องไม่ขัดขวางการลาคลอด และส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งป้องกันการล่วงเกินและคุกคามทางเพศ กฎหมายฉบับนี้กำหนดเพิ่มเติมให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน อธิบดีกรมอนามัยเป็นเลขานุการ

                   

          บทลงโทษของกฎหมายฉบับนี้ ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือสถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา สถานที่ทำงานหรือผู้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้คณะกรรมการแจ้งต่อรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานนั้น เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.หรือถ้าผู้ให้คำปรึกษา ผู้ให้บริการเปิดเผยข้อมูลของผู้รับบริการ ให้เกิดความอับอายหรือเสื่อมเสีย จะมีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท โทษจำคุกไม่มี สำหรับนายจ้างที่ขัดขวางการลาคลอด ไม่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และไม่ป้องกันการล่วงเกินหรือคุกคามทางเพศ ปรับไม่เกิน 60,000 บาทเช่นเดียวกัน ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ขั้นตอนจากนี้ไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบวันนี้แล้วให้กฤษฏีกา ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะส่งกลับมาที่คณะรัฐมนตรีเพื่อส่งไปสภาผู้แทนราษฏรต่อไป

นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า การสอนเพศศึกษาที่บังคับไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ก็เพื่อให้มีภาวะความรับผิดชอบทางเพศในทุกด้าน และกระทรวงศึกษาธิการก็มีหน้าที่ปรับหลักสูตรแนวทางในการสอนเรื่องเพศศึกษา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีบทบาทรองรับเป็นที่พักฉุกเฉินเพื่อรับเลี้ยงดูบุตรของเด็กวัยเรียนในกรณีที่ต้องการตั้งครรภ์และไม่ต้องการรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร รวมทั้งการจัดหาพ่อแม่บุญธรรมให้ด้วย เช่น บางกรณีที่บุคคลไม่มีลูก ต้องการที่จะมีลูก กรณีเช่นนี้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็มีหน้าที่เปิดโอกาสให้รับเลี้ยงเด็กเหล่านี้เป็นบุตรบุญธรรมได้

                 

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การเปิดสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาในเรื่องของเพศศึกษา ครอบครัวศึกษา และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ได้ทำไปล่วงหน้าแล้ว และก็เป็นภารกิจส่วนหนึ่งในบทบัญญัติตามกฏหมายฉบับนี้ด้วย ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุขคืออธิบดีกรมสุขภาพจิต และกระทรวงศึกษาธิการคือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.

นายจุรินทร์กล่าวต่ออีกว่า หลังจากที่เปิดสายด่วน 1323 ให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2553 จนถึงวันนี้ ปรากฎว่ามีผู้โทรศัพท์ขอรับบริการทั้งหมด 12,000 สาย โดยสอบถามเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เรื่องเพศศึกษา ครอบครัวศึกษา จำนวน 1,200 สาย คิดเป็นร้อยละ 10 โดยร้อยละ 75 ของ 1,200 สาย ถามเรื่องเพศศึกษา ครอบครัวศึกษา ทักษะชีวิต ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 15 ถามเรื่องการยุติการตั้งครรภ์อันตรายหรือไม่ อย่างไร และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และในจำนวนนี้ไม่คิดที่จะไปทำแท้ง   แต่ร้อยละ 10 มีแนวโน้มขอคำปรึกษาเรื่องการทำแท้ง หลังให้คำปรึกษาไปแล้วยังไม่ได้ติดตามประเมินผลว่าได้ตัดสินใจอย่างไรหรือไม่ แต่คำปรึกษาที่ให้ไปนั้นเป็นในทางสร้างสรรค์ คาดว่าจะไม่มีการไปทำแท้ง

  **************************** 14 ธันวาคม 2553
 
 


   
   


View 13    14/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ