“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
ส่วนอีก 4 ราย ที่อ่างทอง ลำปาง มุกดาหาร อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีมีข่าวพบผู้เสียชีวิตจากภัยหนาวเพิ่มอีก 4 ราย ว่า ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาวแล้ว 20 จังหวัด เป็นจังหวัดในภาคเหนือ 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำพูน เชียงราย เพชรบูรณ์ ตาก ลำปาง แพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัดประกอบด้วย อุดรธานี สกลนคร เลย ขอนแก่น นครพนม หนองคาย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม อุบลราชธานี และมีผู้เสียชีวิตจากภัยหนาว จำนวนแค่ 2 ราย คือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชายอายุ 70 ปี และจังหวัดเชียงราย เป็นชายอายุ 52 ปี
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในการวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากภัยหนาวหรือไม่นั้น จะต้องเข้าเกณฑ์ดังนี้ 1.เสียชีวิตในพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาว 2.มีเครื่องนุ่งห่มกันหนาวไม่เพียงพอ สำหรับกรณีที่ปรากฏข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มจากภัยหนาวจำนวน 4 รายที่ผ่านมานั้น ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า รายที่ 1.เป็นชาย อายุ 72 ปี ที่ อ.ป่าโมกข์ จ.อ่างทอง เสียชีวิตขณะนอนห่มผ้าห่มอยู่ที่บ้าน เบื้องต้นถือว่าไม่ได้เสียชีวิตจากภัยหนาวเพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาว
รายที่ 2.เป็นชายอายุ 74 ปี ที่ จ.มุกดาหาร เสียชีวิตในห้องนอน เบื้องต้นถือว่าไม่ได้เสียชีวิตจากภัยหนาว เพราะมีเครื่องนุ่งห่มกันหนาวเพียงพอ รายที่ 3.เป็นเด็กชายอายุ 3 ปี ที่ จ.ลำปาง มีโรคประจำตัวคือโรคลมชัก ไปตลาดกับยายกลับถึงบ้านนอนนิ่ง ญาติพาไปสถานีอนามัยพบว่าเสียชีวิต อยู่ระหว่างหาสาเหตุการเสียชีวิต รายที่ 4.เป็นชายอายุ 18 ปี ที่ จ.มุกดาหาร นอนเสียชีวิตที่ใต้ถุนบ้าน อยู่ระหว่างหาสาเหตุการเสียชีวิตว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่เนื่องจากอายุยังน้อย อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตจากทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอีกครั้ง
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้มีการประชุมวอร์รูมต้านภัยหนาวอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ และขอย้ำเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว ต้องดูแลร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง ออกกำลังกายให้พอเหมาะ หากเจ็บป่วยรีบไปพบแพทย์ทันที และสิ่งที่ไม่ควรทำคือ การไม่สวมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวในที่โล่งแจ้ง ไม่หวังคลายหนาวด้วยการดื่มเหล้า เพราะจะทำให้เสียภูมิต้านทานอาจป่วยและเสียชีวิตได้ ไม่จุดไฟนอนในพื้นที่ปิด เช่น ห้องที่ปิดประตูมิดชิด ในเต้นท์ เพราะจะทำให้ขาดอ็อกซิเจนและเสียชีวิตได้