บ่ายวันนี้ (21 ธันวาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวการจับกุมแหล่งขายปลีกและขายส่งกาแฟลักลอบผสมสารอันตราย และผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ย่านบึงกุ่มกทม.เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 รวมมูลค่ากว่า 600,000 บาท
นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. จับกุมดำเนินคดีผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 2 กลุ่ม คือผลิตภัณฑ์อาหาร และยา สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารรายการสำคัญๆ ที่จับกุมครั้งนี้ ได้แก่กาแฟยี่ห้อคอฟฟี่ สลิมมิ่ง และยี่ห้อแฟชั่น สลิมมิ่ง คอฟฟี่ ซึ่งอ้างสรรพคุณลดความอ้วน และมีการผสมสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตรายทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้มีผู้รับประทานกาแฟชนิดนี้ก่อนเสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย เช่นที่โรงพยาบาลเกาะสมุย ญาติให้ประวัติว่าก่อนเสียชีวิตผู้ป่วยกินกาแฟลดความอ้วนยี่ห้อคอฟฟี่ สลิม ซึ่งตรวจสอบพบสารไซบูทรามีน (Sibutramine)อยู่ในกาแฟและกรณีที่พ่อแม่ได้มาร้องเรียนว่าบุตรสาวเสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วน จึงต้องเร่งรัดจัดการดำเนินคดี
สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่จับกุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มี 28 รายการ โดยเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 21รายการ กาแฟ6 รายการและเครื่องดื่มบรรจุภาชนะปิดสนิท 1 รายการ 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าข่ายอาหารปลอม 3 รายการ พบว่าแสดงเลขสารบบอาหารที่ยกเลิกแล้วแสดงเลขสารบบอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่เคยอนุญาต 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีประวัติตรวจพบสารไซบูทรามีนจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ 1 รายการ ได้แก่กาแฟคอฟฟี่ สลิมมิ่ง(Coffee…SLIMMING)กล่องบรรจุโลหะสีน้ำตาล 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง 80 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แฟชั่น สลิมมิ่ง คอฟฟี่ (Fashion Slimming Coffee) กล่องเหล็ก 8 เหลี่ยม จำนวน 40รายการ และผลิตภัณฑ์กาแฟในกลุ่มสลิมมิ่ง คอฟฟี่ (Slimming Coffee)ฉลากภาษาจีน กล่องรูปกระป๋องนม 40รายการ
โดยได้ดำเนินคดี ดังนี้ กรณีจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000บาทถึง 100,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่ามียาลดความอ้วนไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ ก็จะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า กรณีกลุ่มยา ซึ่งมีการจับกุมดำเนินคดีมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจพบว่าสถานที่แห่งนี้ไม่มีใบอนุญาตขายยา แต่มีการลักลอบขายยายี่ห้อจิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง เข้าข่ายผิดกฎหมายในข้อหาขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต เน้นการโฆษณาทางเคเบิ้ลทีวีและมีการอวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ เช่นอ้างว่าเป็นสมุนไพรเพื่อชีวิต เป็นยาบำรุงตับไต ช่วยการหมุนเวียนโลหิต บรรเทาอาการปวดข้อปวดกระดูก โรคเก๊าท์ ลดน้ำตาลในเลือด และรักษาต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นต้น กรณีนี้เข้าข่ายขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี และปรับไม่เกิน5,000 บาท และการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นทั้งมาตรการป้องกันและปราบปราม โดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ให้รับทราบพิษภัยของอาหารและยาที่เป็นอันตราย ขณะเดียวกันให้ปราบปรามจับกุมดำเนินคดีทั้งรายย่อยและรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะให้สาวถึงต้นตอรายใหญ่ให้ได้มากที่สุด เพื่อตัดการกระจายอาหารและยาที่ผิดกฎหมาย และหากพบผิดกฎหมายให้เก็บส่วนออกจากท้องตลาดทันที ห้ามจำหน่ายต่อ ซึ่งมีการจับกุมดำเนินคดีได้มากขึ้น และประชาชนให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสเพิ่มมากขึ้น มีรางวัลนำจับให้ทันทีด้วย
สำหรับกรณีที่มีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ทางเคเบิ้ลทีวี ได้ประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้คณะทำงานอย.ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่บางกรณียังดำเนินคดีไม่ได้ เนื่องจากมีความพยายามหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้กฎหมายเข้าไม่ถึง อย่างไรก็ตามหากพบจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ขณะเดียวกันเน้นรณรงค์ให้ประชาชนดูแลตนเอง ในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องใช้วิจารณญาณ เอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงเพราะหลงเชื่อการโฆษณา ขอให้ประชาชนผู้บริโภคต้องรักษาสิทธิ์ ส่วนผู้ผลิตต้องรักษาคุณธรรม ควบคู่กันด้วย
“ข้อสังเกตเบื้องต้น ตัวกาแฟไม่สามารถลดความอ้วนได้อยู่แล้ว ฉะนั้นหากอ้างสรรพคุณลดความอ้วนจะต้องมีการผสมสารบางอย่างลงไป ซึ่งการลดความอ้วนหากจำเป็นต้องใช้ยา ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น หลักในการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน จะต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง วันละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 3 วัน และปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ที่รสไม่หวาน รับประทานให้ครบ 5 หมู่แต่พอเพียง ซึ่งจะเป็นการลดความอ้วนตามหลักการแพทย์ที่ถูกต้อง” นายจุรินทร์กล่าว
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ร้านจำหน่ายที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ เป็นเอเย่นต์รับมาจากแหล่งผลิตใหญ่เพื่อขายต่อกับผู้ค้าปลีก อยู่ระหว่างการสืบหาข้อมูลแหล่งผลิตรายใหญ่ กาแฟผสมสารไซบูทรามีนส่วนใหญ่จะผลิตในประเทศไทย และมีการนำเข้าจากประเทศจีนบ้างประปราย ในการตรวจสอบว่าเป็นการนำเข้าหรือไม่ทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากถือเป็นอาหารทั่วไป
ทั้งนี้ อาการที่สังเกตได้ว่ารับประทานกาแฟที่ผสมไซบูทรามีน ให้ดูจากการอวดอ้างสรรพคุณซึ่งกาแฟกลุ่มนี้จะอวดอ้างสรรพคุณเรื่องรูปร่างดี เมื่อรับประทานเข้าไปเริ่มแรกจะมีอาการใจสั่น หวิวๆ รู้สึกไม่สบายคล้ายจะเป็นลม ตามมาด้วยไม่อยากรับประทานอาหาร โดยอาการจะเกิดภายหลังรับประทานเพียง 1-2 แก้ว: ซึ่งอาการใจสั่นจะรุนแรงกว่าการกินกาแฟทั่วๆไป หากมีอาการดังกล่าวขอให้หยุดกินทันที และส่งตัวอย่างให้อย.เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไป
สำหรับสารไซบูทรามีนจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ใช้ในคลินิกสำหรับลดความอ้วน ซึ่งขณะนี้ อย.ได้ประกาศยกเลิกตำรับยาแล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะมีอันตรายที่อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ อยู่ระหว่างการเรียกคืนจากร้านขายยา คลินิกและโรงพยาบาลทุกแห่ง ยี่ห้อการค้าในท้องตลาดคือรีดัคทิล (Reductil) โดยยาในกลุ่มลดความอ้วนมี 2 กลุ่มคือยาไซบูทรามีน และกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ขณะนี้ ไม่มียาลดน้ำหนักจำหน่ายในสถานพยาบาลหรือจ่ายโดยแพทย์แล้ว เพราะรีดัคทิลเป็นตัวสุดท้ายที่ถูกเพิกถอน เนื่องจากมีอันตรายถึงชีวิต แต่อาจยังมีเหลือตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการลักลอบผลิต จึงขอฝากเตือนไปยังผู้ผลิตให้หยุดการผลิตทันที
************************************ 21 ธันวาคม 2553