รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 กรม และข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามกฎหมายสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ทำหน้าที่ตรวจตรา ดูแล ควบคุม การประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบหรืออันตรายต่อสุขภาพประชาชน มีผลตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องแต่งตั้งเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งและจำแนกระดับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนใหม่ นายบุณย์ธีร์กล่าวว่า ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขครั้งนี้ ได้แก่ ข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสังกัดราชการส่วนท้องถิ่น คือ กทม. พัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในส่วนของข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะต้องเป็นข้าราชการระดับชำนาญการขึ้นไป ผู้อำนวยการกอง/สำนัก จนถึงรองอธิบดี ที่สังกัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้แก่ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนนบริการสุขภาพ และข้าราชการในสังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาค ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าสถานีอนามัยรวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ ระดับชำนาญงานขึ้นไป สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ผู้อำนวยการกองสุขาภิบาลอาหาร กองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตกทม. ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เมืองพัทยา ผู้อำนวยการสำนัก/กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าส่วนสาธารณสุขละสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าพนักงานสาธารณสุขดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ตรวจตรา ดูแล ควบคุม และให้ข้อเสนอแนะผู้ประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการควบคุมอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาล ได้แก่ การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยต่างๆ สุขลักษณะอาคาร เหตุรำคาญก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อาศัยบริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเสื่อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากน้ำเน่าเสีย เสียง แสง กลิ่น ฝุ่นละออง ความสั่นสะเทือน เขม่า เถ้า การควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือการปล่อยสัตว์ กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สปาเพื่อสุขภาพ การควบคุมตลาด สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ โดยมีทั้งหมด 16 หมวด 90 มาตรา ผู้ใดฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป หรือปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับประเภทการกระทำผิด โดยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องเหล่านี้ สามารถร้องเรียน หรือแจ้งเจ้าพนักงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อแก้ไขจัดการแก้ไขปัญหาได้ ********************************************** 26 ธันวาคม 2553


   
   


View 25    26/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ