โฆษกกระทรวงสาธารณสุขแนะประชาชนก่อนเดินทางกลับหลังฉลองปีใหม่ ขอให้เตรียมตัวให้พร้อม นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการหลับใน ชี้สภาพคนหลับใน ไม่ต่างจากคนหูหนวก ตาบอดเป็นอัมพาต หรือหมดสติไปชั่วคราว มีสัญญานเตือนอาการง่วง ให้สังเกตง่ายๆ 8 อาการ
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันหยุดยาว 4 วันฉลองเทศกาลปีใหม่ 2554 ประชาชนจะมีการดื่มเฉลิมฉลองกันมาก อาจส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงนอนซึ่งหากไปขับขี่อาจหลับในอย่างไม่รู้ตัว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ การหลับในจะทำให้สมองหลับไปแวบหนึ่งสภาพของคนหลับใน เสมือนกับคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต หรือหมดสติไปช่วงหนึ่ง บางครั้งการหลับในอาจเกิดร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ผลการวิจัยของประเทศออสเตรเลียพบว่า คนที่อดนอนติดต่อ 18 ชั่วโมงประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายจะลดลง เท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากอดนอนติดต่อกัน 24ชั่วโมงจะเท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนให้ประชาชนที่จะต้องทำหน้าที่ขับขี่รถ โดยเฉพาะในช่วงเดินทางกลับวันที่ 3 หรือวันที่ 4 มกราคม 2554 ขอให้เตรียมตัวให้พร้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยให้นอนหลับพักผ่อนในเวลากลางคืนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงหากนอนน้อยกว่านี้จะเกิดการอดนอนและเป็นหนี้การนอนสะสมไปเรื่อย ๆวางแผนการเดินทางไกล โดยให้มีเพื่อนร่วมทางเพื่อพูดคุยและผลัดเปลี่ยนกันขับรถ วางแผนหยุดพักการขับรถทุกๆระยะทาง 150 กิโลเมตรหรือทุก 2 ชั่วโมง ถึงแม้จะยังไม่รู้สึกว่าอ่อนล้าก็ตาม หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมเช่นยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยานอนหลับยาคลายเครียด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยากันชัก เป็นต้น หากรู้สึกอ่อนล้า ควรงีบหลับก่อนขับรถ
ทั้งนี้สัญญาณเตือน ที่จะทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่าตนเองมีอาการง่วง มีข้อสังเกตุง่ายๆ 8 ข้อดังนี้ คือ 1.หาวบ่อยและหาวต่อเนื่อง 2.ใจลอยไม่มีสมาธิ 3.รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย4.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา 5. รู้สึกหนักหนังตา ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้นมองเห็นภาพไม่ชัด6. รู้สึกมึน หนักศีรษะ 7.ขับรถส่ายไปมา หรือออกนอกเส้นทางและ8.มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร
นายแพทย์สุพรรณกล่าวอีกว่าหากมีอาการของสัญญานเตือนว่าง่วง ไม่ควรฝืนขับรถต่อ ควรหาทางเพื่อ จอดรถในที่ปลอดภัยเพื่องีบหลับประมาณ 15 นาทีก่อนขับต่อ หรือสลับให้คนอื่นขับรถแทน หรืออาจรับประทานของขบเคี้ยวหรือดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เปิดหน้าต่างรถเพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนน็อคไซต์ที่เกิดจากรถยนต์ที่อาจรั่วเข้าไปในตัวรถ เพื่อให้ลมโชยปะทะหน้า หรือให้เปิดเพลงดังๆ จังหวะเร็วๆและร้องตามไปด้วย ก็จะช่วยแก้ง่วงได้
******************************************** 2 มกราคม 2554