จากกรณีข่าวการเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยเรื่องเด็กและเยาวชนในมติวัฒนธรรม รวมทั้งศึกษาปัญหาของเด็กและเยาวชนยุคปัจจุบัน พบครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ข้อมูลเด็กนักเรียนชั้น ม.1–ม.3 นิยมใช้ถุงพลาสติกใสแทนถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ บางคนใช้ถุงพลาสติกใส่ของหรือถุงก๊อบแก๊บ นั้น ในวันนี้ (4 มกราคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ขอให้กรมควบคุมโรคโดยสำนักโรคเอดส์ฯ ตรวจสอบร่วมกับองค์กรเอกชนที่เป็นเครือข่าย ได้ข้อมูลที่ตรงกันว่าไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมทั่วไปที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นกรณีไม่ปกติหรืออาจจะเป็นเรื่องการอยากลองมากกว่าพฤติกรรมทั่วไป อย่างไรก็ตามหากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็จะมีปัญหากระทบกับอวัยวะเพศได้ จะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งไม่สามารถป้องกันโรคและป้องกันการตั้งครรภ์ได้

          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า นโยบายในการแจกถุงยางอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค มีการแจกถุงยางอนามัยกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศปีละประมาณ 20 ล้านชิ้น โดยกระจายไปถึงตำบล หมู่บ้าน ชุมชน ผ่านทางสถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อสม. และกองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้ ในช่วงหลังปี 2547 เป็นต้นมา ได้มีการติดตั้งเครื่องจำหน่ายถุงยางอนามัย ปัจจุบันติดตั้งแล้ว 20,000 เครื่องทั่วประเทศครอบคลุมหลายพื้นที่ ทั้งสถานที่ทำงาน โรงงาน ศูนย์การค้า รวมทั้งดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จะติดตั้งที่ห้องน้ำในศูนย์การค้า และต่างจังหวัดส่วนหนึ่งจะอยู่ที่กองทุนหมู่บ้าน หรือที่บ้านอสม. โดยจำหน่ายในราคาถูกชิ้นละ 5 บาท ในแต่ละปีพบว่าตู้จำหน่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัติที่ดำเนินการโดยภาครัฐมีการใช้ปีละ 2.7 ล้านชิ้น และโดยบริษัทเอกชนอีกปีละ 2.6 ล้านชิ้น   
          สิ่งที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมนอกจากการเร่งรัดพระราชบัญญัติอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการช่วยให้ผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ได้มีความรู้ความเข้าใจ เรื่องเพศศึกษา ครอบครัวศึกษา ได้รับคำแนะนำปรึกษาที่ถูกต้อง การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ตลอดจนการวางแผนครอบครัว ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไป
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการติดตั้งตู้จำหน่ายถุงยางอนามัยในโรงเรียนว่าถึงเวลาหรือไม่ เป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบด้านหนึ่งอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการตั้งครรภ์ แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นการยั่วยุให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ได้สะดวกขึ้นหรือไม่ จะต้องมีการพูดคุยกัน รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และพิจารณาด้วยความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าเรื่องเพศศึกษา การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร คิดว่าทุกฝ่ายคงมีความเห็นตรงกันในการที่จะให้ความรู้ความเข้าใจกับเยาวชน และต้องสอนให้เด็กรู้จักปฏิเสธโดยไม่เสียความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อเป็นภูมิต้านทานแก่เด็ก ทำให้ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์จะเกิดได้ยากขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยลง ส่วนกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ได้ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัย แต่ไม่ใช่การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มวัยรุ่น จนกระทั่งกลายเป็นการส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร
************************************** 4 มกราคม 2554
 


   
   


View 15    04/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ