เพิ่มอายุผู้ซื้อบุหรี่จาก 18 ปีเป็น 20 ปี ห้ามขายบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ต แบ่งขาย ลดราคา ห้ามโฆษณาทั้งยี่ห้อ ชื่อและเครื่องหมายบริษัทผู้ผลิต-นำเข้า พร้อมออก 2 กฎกระทรวง ให้เปลี่ยนกระดาษมวนบุหรี่ เป็นบุหรี่ปลอดไฟไหม้ ลดควันบุหรี่มือสอง  และห้ามเติมสารปรุงแต่งในบุหรี่ หวังสกัดนักสูบหน้าใหม่ 
          วันนี้ (5 มกราคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผลการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2554 ซึ่งประกอบด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศิริรวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ศ.เกียรติคุณนพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สสส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกทม.
          นายจุรินทร์กล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. แก้ไข เพิ่มเติมคำนิยาม โดยให้แก้ไขคำนิยามว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งตามกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2535 หมายถึงบุหรี่ทั่วไป จะเพิ่มข้อความ “ผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ” ให้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหมด เพิ่มนิยามคำว่า “ขาย” หมายความรวมถึงการจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เพื่อประโยชน์ทางการค้า นอกจากนั้นเพิ่มเติมนิยามคำว่าโฆษณา ให้รวมถึงการสื่อสารทางการตลาดด้วย ไม่ใช่แค่การโฆษณาทั่วไป  2.เรื่องการขาย เดิมห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้แก้เป็น 20 ปี ซึ่งห้ามขายและห้ามให้ฟรี และห้ามขายโดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ ห้ามขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต ห้ามแบ่งขาย ห้ามลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย รวมทั้งห้ามขายโดยวิธีอื่นๆตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
          3.เรื่องการโฆษณา ตามกฎหมายปัจจุบันได้ห้ามโฆษณาเฉพาะยี่ห้อและห้ามโฆษณาในทุกกิจกรรม ยกเว้นกิจกรรมที่มีการถ่ายทอดสดซึ่งมีการโฆษณาในสถานที่จัดกิจกรรมติดมาด้วย โดยกฎหมายที่แก้ใหม่ จะห้ามทั้งการโฆษณายี่ห้อและชื่อหรือเครื่องหมายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าก็ตาม รวมทั้งระบุชัดเจนในกฎหมายด้วยว่า ห้ามแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขาย ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าที่ปฏิบัติตามอยู่แล้วถึงร้อยละ 90 โดยจะลงนามเอกสารเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และเป็นไปตามกระบวนการ คือผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป    
          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติให้มีกฎกระทรวง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องบุหรี่ปลอดไฟไหม้ เนื่องจากพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ ถึง 1 ใน 6 โดยกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ จะบังคับให้บุหรี่ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ จะต้องเป็นบุหรี่ปลอดไฟไหม้ บังคับให้บุหรี่ซิกาแรตใช้กระดาษที่ดับได้เองเมื่อไม่สูบ ซึ่งบุหรี่ปัจจุบันถ้าไม่สูบก็จะไหม้ไปเรื่อย ๆ จนหมดมวนใช้เวลา 10 นาที ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสร้างควันบุหรี่มือสองในปริมาณที่สูงมาก ส่วนบุหรี่แบบใหม่ที่ปลอดไฟไหม้จะดับเองภายใน 2 นาที
 
 
       หากไม่สูบ ก็จะทำให้ปริมาณควันบุหรี่มือสองลดลงไปด้วย ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก โดยปัจจุบันมีประเทศที่ใช้บุหรี่ปลอดไฟไหม้ชนิดนี้แล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2547 และภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้ รัฐที่ 50 ก็จะประกาศใช้เป็นรัฐสุดท้าย ประเทศที่ 2 คือแคนาดา บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ประเทศออสเตรเลียและฟินแลนด์ในปี 2553 สำหรับ 27 ประเทศ ในสหภาพยุโรปนั้นได้รับหลักการในการที่จะดำเนินการแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 365 วันหลังวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          กฎกระทรวงเรื่องที่ 2 คือห้ามเติมสารปรุงแต่งในบุหรี่ เพื่อจูงใจให้มีผู้สูบเพิ่มขึ้น หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยกำหนดว่าบุหรี่ที่ผลิตหรือจำหน่ายในประเทศนั้น จะต้องไม่เติมสารที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น เติมวิตามิน ผลไม้ กรดอะมิโน หรือสารที่ทำให้เข้าใจว่ามีผลบำรุงกำลัง เช่น กาแฟ รวมทั้งต้องไม่มีสารอื่นในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะในปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เติมสารชูรสต่างๆ เพื่อจูงใจวัยรุ่นและสตรีให้หันมาสูบมากขึ้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้มีนโยบายไม่ให้มีการนำเข้าบุหรี่เหล่านี้อยู่แล้ว  โดยกฎกระทรวงจะมีผลบังคับใช้ทันที หลังวันที่ลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
          ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคนไทยสูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เป็นชาย ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีหรือพ.ศ. 2557 จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงเหลือร้อยละ 10 ทั้งนักสูบหน้าเก่าและนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ซึ่งผลสำรวจล่าสุดในปี 2552 มีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1 ล้านคน
 *****************************  5 มกราคม 2553
         


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ