พร้อมสั่งให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศวิเคราะห์ต้นทุนขั้นต่ำ ให้เสร็จในมี.ค.54 เพื่อใช้เป็นฐานการจัดสรรงบประมาณ

       วันนี้ ( 7 มกราคม 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2553 ที่ผ่านมา ตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประสบภาวะขาดทุนจำนวน 304 แห่ง รวมเป็นเงินทั้งหมด 4,000 ล้านบาท ประกอบด้วยขาดทุนรุนแรง 77 แห่ง คิดเป็นจำนวนเงิน 1,300 ล้านบาท และขาดทุนระดับรองลงมา 227 แห่ง เป็นเงิน 2,700 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้บริหารเพื่อแสวงหากำไร ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร ซึ่งการขาดทุนจะส่งผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการ และการให้บริการประชาชน
       นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในการวัดภาวะการณ์ขาดทุนของโรงพยาบาล ดูจาก 2 ส่วนหลัก คือ 1.จากสภาพคล่องทางการเงิน โดยดูจากอัตราส่วนระหว่างส่วนทรัพย์สินกับหนี้สิน ว่าเหลือจำนวนเท่าใด   2.ดูจากดัชนีประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลัง เช่น อัตรากำไรสุทธิบวกหรือลบ ต้นทุนการดำเนินการของโรงพยาบาลเทียบกับโรงพยาบาลอื่นสูงหรือต่ำกว่า   ศักยภาพการเก็บหนี้ค่ารักษาพยาบาล น้อยกว่า 90 วันหรือไม่ รวมทั้งระยะเวลาในการชำระหนี้ว่าสูงหรือต่ำกว่า 90 วัน
ในการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน 304 แห่ง ได้มอบหมายให้นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานกับเลขาธิการ สปสช. มาโดยตลอด โดยประชุมหาสาเหตุการขาดทุนที่เป็นรูปธรรมและแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ในเบื้องต้นนี้จะจัดสรรเงินให้โรงพยาบาลที่ขาดทุนรุนแรง 77 แห่ง เป็นเงิน 1,300 ล้านบาทก่อน โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายในมกราคม 2554 ส่วนที่เหลืออีก 227 แห่ง จะเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วภายในเดือนมีนาคมนี้
ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งวิเคราะห์ต้นทุนขั้นต่ำของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ที่มีอยู่ 900 กว่าแห่ง ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อใช้เป็นฐานในการพิจารณาจัดงบประมาณของ สปสช. ในปี 2555 ต่อไป โดยในหลักการนั้น ควรจัดให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของโรงพยาบาลก่อน ส่วนที่เกินจากนั้น อาจจะพิจารณาจากการจัดอัตราค่าใช้จ่ายรายหัว   คาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2554 ก็จะแล้วเสร็จทั้งหมด
       อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนในปีงบประมาณ 2553 ได้มีการแก้ไขมาโดยลำดับ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช.เสนอคณะรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาโรงพยาบาลที่แบกรับภาระคนไทยไร้รัฐ ได้จัดสรรเงินให้โรงพยาบาลตามแนวชายแดน 172 แห่ง เพื่อชดเชยการแบกรับค่ารักษาของคนไร้รัฐที่มารับบริการ จำนวน 470 ล้านบาท โดยในปี 2554 จัดสรรให้ 918 ล้านบาท ในการดูแล คนไร้รัฐ 457,409 คน
       ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง น่าจะมาจาก 3 สาเหตุ คือ1.การจัดสรรค่าบริการทางการแพทย์เป็นการจ่ายรายหัวตามจำนวนประชากร ในพื้นที่ในบางอำเภอที่มีประชากรน้อย ค่ารายหัวก็จะได้น้อย 2.การหักเงินเดือนข้าราชการ เมื่อหักเป็นรายอำเภอ บางอำเภอมีข้าราชการในโรงพยาบาลมาก เงินเดือนก็จะมาก เพราะฉะนั้น 2 ปัจจัยนี้ จึงทำให้เงินที่เข้าโรงพยาบาลในอำเภอนั้นๆกลายเป็นปัญหาขาดสภาพคล่องตั้งแต่แรก ส่วนสาเหตุที่3 คือ มีการจัดสรรแยกเป็นรายกองทุนย่อยๆทำให้กองทุนที่เป็นกองทุนหลักเช่นเรื่องของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ถูกแบ่งไปไว้ในกองทุนเฉพาะ จึงทำให้ภาพรวมเกิดการขาดสภาพคล่องขึ้น ********** 7 มกราคม 2554


   
   


View 14    07/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ