ทั้งไวอะกร้า กลูต้าไธโอน ยา-ฮอร์สร้างกล้ามเนื้อ ยาลดอ้วนอันตราย เบื้องต้นแจ้ง ข้อหาขายยาโดยไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยอย.อาจถอนใบอนุญาต เพราะทำผิดหลายครั้ง พร้อมสั่งอย.ร่วมกับตำรวจตรวจสอบในแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆต่อ
วันนี้ (13มกราคม 2554)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและพ.ต.อ.ทนัย อภิชาตเสนีย์ รองผู้บังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (รองผบก.ปคบ.) แถลงข่าวการตรวจจับร้านขายยาผิดกฎหมายแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่ย่านพัฒน์พงศ์ กทม.
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ร่วมกันดำเนินการตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย ทำการล่อซื้อยาจากร้านขายยาย่านพัฒน์พงศ์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวไทยและต่างประเทศ ผลการดำเนินการพบร้านขายยาชื่อบอดี้ ดีไซน์ ตั้งอยู่เลขที่ 35/2 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุรวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ ขายยาผิดกฎหมาย 7 กลุ่ม มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ได้แก่ 1.ยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช่น ไวอะกร้าปลอม ยาสูตรพิเศษใหม่ คามากร้าปลอม และคามากร้ารูปแบบพิเศษ มีรูปแบบที่แตกต่างจากที่เคยพบ เช่นเป็นเม็ดฟู่และเจลลี่ (jelly) ยาเซียอะลิส (Cialis) 2.ยากลุ่มเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ลักลอบใช้กับกลุ่มนักกีฬา เช่น สตาร์โนโซลอล (stanozolol) แนนโดโลน (nandrolone) โบลดีโนน (boldenone) 3.กลุ่มยาฮอร์โมนเพศชายชนิดฉีด เช่น เทสโตสเตอโรน (testosterone) 4.ยาลดความอ้วน ไซบูทรามีน (sibutramine) 5.ยาฉีดสำหรับทำให้ผิวขาว กลูตาไธโอน (glutathione) 6.กลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ได้แก่ ยาแก้ปวดผสมโคเดอีน
และ7.กลุ่มยาเสริมสร้างกล้ามเนื้อม้า แต่นำมาใช้ฉีดในคน เช่น วีโบลเด็กซ์ (veboldex) ซึ่งสารนี้ปกติจะใช้สำหรับม้า โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และขณะนี้อย.ได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนแล้ว ห้ามใช้ไม่ว่าในสัตว์หรือคนก็ตาม ยานี้ส่วนใหญ่จะลักลอบใช้ในนักกีฬาเพาะกายหรือนักกรีฑา เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้มากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้แข็งแรงขึ้น แต่จะมีผลข้างเคียงอันตราย เช่น ตับอักเสบรุนแรง มะเร็งตับ หรือเกิดภาวะเลือดข้นหนืด ซึ่งจะทำให้หัวใจทำงานหนักมากกว่าปกติ หัวใจวายและเสียชีวิตได้ นอกจากนั้นจะก่อให้เกิดลักษณะเพศชายในผู้หญิง ทำให้ต่อมลูกหมากโตและการสร้างสเปิร์มลดลงในผู้ชาย มีอาการนอนไม่หลับ ซึมเศร้า เป็นต้น
ประเด็นสำคัญคือการตรวจจับครั้งนี้ เป็นการขายยาที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติเข้าใจว่า แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยเป็นแหล่งของการขายยาเรื่องเซ็กส์หรือยาที่ผิดกฎหมาย ได้มอบนโยบายให้ อย.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตรวจเข้มร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพในแหล่งท่องเที่ยวต่อไป หากพบการกระทำผิดต้องดำเนินคดีโดยเคร่งครัด
สำหรับโทษของร้านขายยาที่จับกุมได้ครั้งนี้ มี 2 กรณีคือ 1.ขายยาโดยไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ2.กรณีขายยาปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี- 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท - 10,000 บาท ซึ่งจะแจ้งข้อหาเพิ่มเติมเมื่อได้รับการตรวจสอบและยืนยันจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ในภายหลัง
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มอบเลขาธิการอย. ให้รายงานความก้าวหน้าแต่ละคดีที่ได้จับกุมดำเนินคดีร่วมกับตำรวจในรอบปี 2553 ให้ทราบ ซึ่งนโยบายที่เน้นย้ำไปก็คือการดำเนินคดีจะต้องไม่ดำเนินคดีเฉพาะบริษัท นิติบุคคลเท่านั้น เพราะจะไม่เกิดความเกรงกลัว จะต้องดำเนินคดีกับกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทด้วย ไม่เพียงแค่ปิดบริษัทและไปเปิดบริษัทใหม่ เพื่อให้การดำเนินการร่วมกันบรรลุผลอย่างแท้จริง
สำหรับความคืบหน้าการจับกุมโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่เข้าเป็นข่ายยาปลอมมูลค่า 30 ล้านบาท ย่านพระราม 5 อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นกรณีที่เข้าใจว่าจะเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางเข้าข่ายเป็นยาผิดกฎหมาย แล้วส่งไปตามคลินิกโรคผิวหนังและคลินิกเสริมความงามกระจายอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ในการขยายผลและมาตรการของการป้องปรามเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อไป โดยภายในประมาณ 2 สัปดาห์นี้ จะให้อย.เชิญตัวแทนคลินิกผิวหนังและคลินิกเสริมความงาม มาประชุมร่วมกันที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจน ว่าการสั่งโรงงานผลิตเครื่องสำอางเข้าข่ายเป็นยาหรือเครื่องสำอางเถื่อนแล้วนำไปใช้ในคลินิกโดยแพทย์เป็นผู้ดำเนินการ หรือวิธีใดๆ ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่ควรกระทำ หากมีการสอบสวนโยงใยไปถึงจะมีการดำเนินคดีโดยเคร่งครัดต่อไป และจะเปิดเผยรายชื่อคลินิกกรรมการผู้มีอำนาจ และเจ้าของกิจการ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบต่อไปด้วย
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า ร้านขายยาในแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่อย.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเข้าตรวจค้นรวมทั้งสืบหาแหล่งค้าส่งรายใหญ่ต่อไปก็คือ ที่ย่านสุรวงศ์ พัทยา สมุย และภูเก็ต ซึ่งร้านขายยาบอดี้ ดีไซน์ที่ถูกจับกุมครั้งนี้ เปิดขายมานาน 6 ปี ได้รับอนุญาตเปิดร้านขายยาอย่างถูกต้อง แต่มีการกระทำผิดและถูกจับดำเนินคดีหลายครั้ง อยู่ในบัญชีดำ ซึ่งอาจจะพิจารณาถอนใบอนุญาตต่อไป
สำหรับกลุ่มยาที่จับได้ครั้งนี้ มีทั้งที่ชาวไทยและชาวต่างชาติใช้ เช่น กลุ่มที่ใช้ในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ขณะนี้ไทยมียาที่ถูกต้องตามกฎหมายจำหน่ายตามร้านขายยาอยู่แล้ว สามารถซื้อได้โดยมีใบสั่งยาจากแพทย์ แต่ยังมีการลักลอบนำเข้าเพราะมีราคาถูกกว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ใช้ในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อซึ่งคนไทยไม่นิยมใช้เหมือนชาวต่างชาติ นอกจากนักเพาะกายที่อาจหลงผิดใช้ยาฮอร์โมนสร้างกล้ามเนื้อเหล่านี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นชาวต่างชาติที่นิยมซื้อไปใช้หรือนำไปเป็นของฝาก เพราะหาซื้อยากในต่างประเทศ นายแพทย์พิพัฒน์กล่าว
**************************** 13 มกราคม 2554