ด้วยวิธีควบคุมอาหารและยาลดน้ำหนัก พร้อมรักษาโรคประจำตัว ก่อนเตรียมผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อป้องกันภาวะโรคอ้วนในระยะยาว

                วันนี้ (14 มกราคม 2554) ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ประชุมวางแผนการรักษาหญิงอ้วนจากจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับนายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และทีมแพทย์
          นายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ว่า ผู้ป่วยรายนี้ มีภาวะอ้วนเกินปกติ เพราะเมื่อดูจากความสูงแล้ว ตามมาตรฐานทั่วไปควรมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 45 กิโลกรัม แต่ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินอย่างน้อย 3 เท่าตัว เมื่อนำไปคิดดัชนีมวลกาย ซึ่งคิดน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง คนทั่วไปที่ได้มาตรฐานดัชนีมวลกายจะไม่เกิน 18.5-22.9 แต่ผู้ป่วยรายนี้ดัชนีมวลกายสูงถึง 56 ซึ่งใกล้เคียงกับกรณีน้องปิ๊กน้ำหวาน จึงถือว่ามีภาวะความอ้วนเกินปกติที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน
นายจุรินทร์กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ยังมีอาการปวดหลัง สะโพก เดินไม่ไหว ซึ่งเป็นมาหลายปีต่อเนื่องแล้ว แพทย์ได้ตั้งข้อสงสัยเบื้องต้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเกิดจากสารสเตียรอยด์ เพราะเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดจะไปซื้อยาชุดที่ร้านขายยา และรับประทานยาแก้ปวดวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 เม็ด มาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นจึงได้นำยาชุดที่ผู้ป่วยซื้อมารับประทานไปตรวจวิเคราะห์ คาดว่าจะได้ผลภายใน 1 สัปดาห์ สำหรับสารสเตียรอยด์เมื่อรับประทานต่อเนื่องยาวนานในปริมาณมาก จะมีผลกระตุ้นความอยากอาหาร และกระทบต่อระบบการเผาผลาญของร่างกายทำให้ระบบการเผาผลาญในร่างกายผิดปกติ ในที่สุดจะเกิดไขมันหลงเหลือในร่างกาย และเกิดภาวะอ้วนเกินปกติ ที่สำคัญอีกอย่างคือจะทำให้กระดูกบางลงทำให้เส้นประสาทถูกกดทับได้ง่าย เกิดอาการปวดหลังปวดสะโพกได้
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยรายนี้ เบื้องต้นในช่วง 2-3 เดือนแรกนี้ จะใช้หลักโภชนาการ คือให้รับประทานอาหารที่ไม่ทำให้อ้วน โดยให้โภชนากรควบคุมอาหารและปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน และให้ยาลดน้ำหนักโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการดูแลโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง รวมทั้งจะดูแลเรื่องสุขอนามัย และรักษาอาการนอนกรนด้วย โดยตั้งเป้าจะลดน้ำหนักจาก 135 กิโลกรัมให้เหลือ 100 กิโลกรัมภายใน 3 เดือนแรกนี้ จากนั้นจะทำการผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหารให้เล็กลงและผ่าตัดลำไส้ให้สั้นลง เพื่อให้พื้นที่ดูดซึมอาหารลดลง ซึ่งเป็นการป้องกันระยะยาวไม่ให้อ้วน  โดยผู้ป่วยรายนี้น้ำหนักควรอยู่ที่ 40-50 กิโลกรัมตามเกณฑ์มาตรฐาน
ส่วนเรื่องยาชุดสเตียรอยด์ ได้ให้ อย.ติดตามตรวจสอบเรื่องยาผิดกฎหมายมาโดยตลอด กรณีนี้ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใช่หรือไม่ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น อย่างไรก็ตามขอเตือนประชาชน หากเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์ อย่าซื้อยารับประทานเองโดยไม่จำเป็น ยกเว้นยาบรรจุเสร็จทั่วไปที่มีฉลากระบุชัดเจนว่าใช้รักษาอาการอะไร และเลือกซื้อในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ แต่หากเป็นกรณีเช่นผู้ป่วยรายนี้ที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องยาวนาน ต้องไปพบแพทย์       
*************************************   14 มกราคม 2554


   
   


View 15    14/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ