รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ไร้สิ่งป้องกัน มีความเสี่ยงบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงกว่าผู้ใช้รถยนต์ 10-50 เท่าตัว ผลการเฝ้าระวังผู้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ใช้รถจักรยานยนต์ ล่าสุดในปี 2552 พบเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มากถึงร้อยละ 27 แนะเพื่อความปลอดภัย ประชาชน ไม่ควรนำเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ โอกาสหัวน็อคพื้น เจ็บหนัก หรือเสียชีวิตเป็นไปได้สูง ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรของประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มลดลง แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆจะรณรงค์นำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อลดปัญหาแล้วก็ตาม ปัญหาหลักกว่าร้อยละ 80 เกิดมาจากรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นพาหนะยอดนิยมของคนไทย มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับรถอื่นๆ ในปี 2552 มีรถจักรยานยนต์จดทะเบียน 16 ล้านกว่าคัน เฉลี่ยแล้วครัวเรือนไทยขณะนี้มีรถจักรยานยนต์ใช้ 1 คันต่อ 1.23 ครัวเรือน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ถนนที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงกว่าผู้ใช้รถยนต์ 10-50 เท่าตัว เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บใดๆให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเลย เปรียบเสมือนเนื้อหุ้มเหล็ก ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 33 แห่งทั่วประเทศในปี 2552 ซึ่งมีจำนวน 2,537 ราย เสียชีวิต 55 ราย มีข้อมูลน่าสนใจพบว่า ร้อยละ 98 ไม่ได้สวมหมวกนิรภัยป้องกัน และเป็นผู้ที่ซ้อนท้ายร้อยละ 49 ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีร้อยละ 27 และอายุ 5-9 ปีร้อยละ 23 เด็กที่ซ้อนท้ายและได้รับบาดเจ็บรุนแรงใช้หมวกนิรภัยน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 2 ดังนั้นในการป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จะต้องใส่หมวกนิรภัยและล็อคสายรัดคางทุกครั้งที่เดินทางไม่ว่าจะระยะทางใกล้หรือไกลเพื่อลดอันตรายที่ศีรษะ สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรนั่งซ้อนรถจักรยานยนต์ เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่มีหมวกนิรภัยที่เหมาะสม หากเกิดอุบัติเหตุอาจทำให้ศีรษะโหม่งพื้น อาจเสียชีวิตหรือพิการได้ โดยผลการศึกษาของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุในประเทศไทย พบว่า การใช้หมวกนิรภัยสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึง 57 คน ในทุกๆ 100 คนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ดร.พรรณสิริกล่าวอีกว่า จากสถิติในปี 2552 ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 10,717 ราย เฉลี่ยวันละ 30 กว่าราย โดยร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตหรือประมาณ 8,500 คน เกิดจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งคนขับและคนซ้อนท้าย ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการออกกฎหมายบังคับทั้งผู้ขับและผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ใช้หมวกนิรภัยมาเป็นเวลา 15 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังมีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้ายไม่สวมใส่หมวกนิรภัยเป็นจำนวนมาก โดยมีผลการศึกษามากมายที่ยืนยันว่าการใช้กฎหมายบังคับการสวมใส่หมวกนิรภัยอย่างจริงจัง ทำให้จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้บาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ในปี 2554 นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้ปี 2554 เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดเก็บข้อมูลสถิติการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับไม่สวมหมวกนิรภัยด้วย จึงอยากให้ทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์อย่างจริงจังในปีนี้ และให้หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจริงจังในเรื่องดังกล่าว มั่นใจว่าจะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ลดลงได้แน่นอน ************************************ 16 มกราคม 2554


   
   


View 10    16/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ