วันนี้ (17 มกราคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ว่า ขณะนี้กฎหมายดังกล่าว ได้รับการบรรจุอยู่ในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้วตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว ขึ้นอยู่กับวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านว่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมสภาเมื่อไร โดยร่างทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในวาระการประชุม มีทั้งร่างในส่วนที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล และฝ่ายค้าน โดยหลายพรรคการเมือง ขณะเดียวกันก็มีร่างของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย รวมทั้งร่างของภาคประชาชน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสนอเพิ่มเติมอีก 1 ร่างโดยกลุ่มแพทย์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รวบรวมรายชื่อเกิน 10,000 ชื่อเสนอต่อประธานสภา และเนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ฉะนั้นขั้นตอนกระบวนการจึงต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องมาให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเบื้องต้นว่าควรจะให้คำรับรองร่างฉบับของแพทย์หรือไม่ และตนได้ลงนามในหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว ว่าควรให้คำรับรอง เพื่อให้มีการบรรจุร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ซึ่งเสนอโดยกลุ่มแพทย์เข้าสู่ระเบียบวาระของสภาฯด้วย
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ถ้าสมมุติว่ามีการหยิบยกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มาพิจารณาในสภาและสภาให้ความเห็นชอบผ่านวาระ 1 แล้ว เมื่อไปวาระ 2 จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณานั้น โดยหลักการรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีกรรมาธิการจากภาคประชาชนในฐานะเจ้าของร่างพ.ร.บ. 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นเมื่อร่างของแพทย์ได้รับการบรรจุเข้าร่วมพิจารณาแล้ว ก็ถือว่าเป็นร่างพ.ร.บ.ของภาคประชาชนอีกร่างหนึ่ง ร่างพ.ร.บ.ของแพทย์ก็จะให้มีตัวแทนของกลุ่มแพทย์เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ร่วมกับตัวแทนของภาคประชาชนรวมกันเป็น 1 ใน 3 เช่นเดียวกัน หมายความว่าตัวแทนของภาคประชาชนที่เสนอกฎหมายเข้าไปก็จะได้ครึ่งหนึ่งของ 1 ใน 3 และตัวแทนของกลุ่มแพทย์ที่เสนอกฎหมายก็จะได้ครึ่งหนึ่งของ 1 ใน 3 เป็นเรื่องที่จะต้องประสานงานกันต่อไป ก็จะช่วยให้แพทย์ที่เป็นเจ้าของร่าง มีตัวแทนเข้าไปนั่งในที่ประชุมกรรมาธิการเช่นเดียวกับภาคประชาชนในปริมาณที่คิดว่าควรจะเท่ากันต่อไป
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน้าที่ของคณะกรรมการติดตามและรวบรวมความคิดเห็นซึ่งประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดี และผู้ตรวจราชการทุกเขตเป็นกรรมการ เมื่อได้สรุปประเด็นต่างๆที่ผู้ประกอบวิชาชีพอาจยังไม่สบายใจทั้ง 12 ประเด็นแล้ว จากนั้นกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรสาธารณสุขให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในวันนี้ อยากให้ผู้ประกอบวิชาชีพเข้าใจในสาระเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.นี้ ที่ได้มีการสรุปประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีความสบายใจและลดความกังวล นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นกลับมาด้วย ขณะเดียวกันจะได้มีการรวบรวมเป็นรูปเล่ม มีการเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี้ได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอข้อมูลสรุปประเด็นเหล่านี้ให้แก่ประธานวิปรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ส่วนความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ของเจ้าหน้าที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจของผู้ตรวจราชการ คาดว่าจะได้ข้อมูลก่อนพ.ร.บ.เข้ารับการพิจารณาในสภาฯ
********************************** 17 มกราคม 2554