ที่ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการนำคณะจิตแพทย์ไปดูแลจิตใจและเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนคนไทย ในสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ระหว่างวันที่ 19-22 มกราคม พ.ศ.2554 ว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจทุกประเด็น โดยประเด็นที่ 1 ในเรื่องของการติดตามความก้าวหน้าความสัมพันธ์ด้านสาธารณสุขระหว่าง 2 ประเทศ จะมีการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) ด้านสาธารณสุขร่วมกัน โดยจะมีการลงนามร่วมกันใน 9 สาขา ที่ประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ประเด็นที่ 2 กระทรวงสาธารณสุข( สธ.) จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ( กต.) โดยใช้สถานทูตเป็นกลไกในการดูแลสุขภาพคนไทยที่อาศัยที่อียิปต์ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องจากมีนักศึกษาไทยมาเรียนที่อียิปต์ประมาณ 2,600 คน และยังมีคนไทยที่ไปทำงาน รวมทั้งคนไทยอาศัยอยู่ทั่วๆไปด้วย นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในเรื่องของสุขภาพกาย ปัญหาที่สำคัญคือการไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งสธ.และกต.จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยจะจัดให้มีการอบรมความรู้ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตขั้นพื้นฐานให้แกนนำนักเรียนไทยและคนไทยที่อาศัยที่อียิปต์ เพื่อให้ทำหน้าที่เสมือนเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข( อสม.)ไทยในต่างแดน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการตั้งอสม.ไทยในต่างแดน เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานกับสธ.และกต.ต่อไปในอนาคต และจะใช้เป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังประเทศอื่นๆต่อไป “ ในการอบรมความรู้สุขภาพกายและสุขภาพจิตขั้นพื้นฐานแก่แกนนำ 38 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน และผู้มาอาศัยที่อียิปต์ จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ไทย ณ กรุงไคโร และสมาคมนักเรียนไทย โดยในจำนวนนี้ 14 คนมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมาทำงานเป็น อสม.ไทยในต่างแดน จะทำในลักษณะจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ให้นักเรียนไทยและประชาชนต่อไป โดยจะมีการจัดทำทะเบียน อสม.ไทยในต่างแดน และจัดตั้งคลังยาสามัญพื้นฐานไว้ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต หากมีปัญหาจำเป็นขั้นพื้นฐาน อสม.ไทยในต่างแดนสามารถเข้าไปดูแลปัญหาพื้นฐานได้ โดยใช้งบประมาณน้อยมาก”นายจุรินทร์ กล่าว นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งสายด่วนหรือฮอตไลน์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำทางด้านจิตเวช และปัญหาสุขภาพจิตให้คนไทย โดยจะเชื่อมต่อกับทำเนียบเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์และกรมสุขภาพจิต ซึ่งทั้ง 2 กลไกคือ อสม.ไทยในต่างแดนและฮอตไลน์ จะมีส่วนช่วยดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตคนไทย สำหรับลักษณะของสายด่วนสุขภาพจิต จะมีช่องทางเร่งด่วนในการติดต่อประสานงาน อาจจะเป็นโทรศัพท์สายด่วน หรือใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างกรมสุขภาพจิตและสถานทูต สามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากมีปัญหาเกิดขึ้นบ่อย ๆ เช่น กรณีไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ถูกทวงเงิน มองคนรอบข้างเป็นศัตรูไปหมด ถึงขั้นมีปัญหาจะก่อความรุนแรงขึ้นมาได้ นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในการนำคณะจิตแพทย์ไปดูแลจิตใจคนไทยที่ประเทศอียิปต์ครั้งนี้ มีคนไทยมารับบริการ 47 ราย ในจำนวนนี้มีปัญหาทางกาย 33 ราย เช่นเป็นไข้หวัด ติดเชื้อทางเดินหายใจ ปวดกล้ามเนื้อ โรคผิวหนัง โรคทางเดินอาหาร โรคความดันโลหิตสูง และมีปัญหาสุขภาพจิต 14 ราย เช่น มีอาการซึมเศร้า 1 รายเป็นแม่นักศึกษาที่มาอยู่กับลูกที่อียิปต์ โรควิตกกังวล 3 ราย โรคจิตเฉียบพลัน 1 ราย เนื่องจากเป็นผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่พอไปอยู่ที่อียิปต์ทำให้ไม่ได้รับยาต่อเนื่อง มีปัญหาการนอนไม่หลับ 2 ราย การตรวจสุขภาพกายและจิตในครั้งนี้เป็นเหมือนการสุ่มตัวอย่าง ไม่ได้หมายความว่ามีคนมีปัญหาสุขภาพจิตเท่านี้ สำหรับการประเมินความพึงพอใจผู้เข้ารับการอบรมเป็น อสม.ไทยในต่างแดน พบว่า พึงพอใจมากถึงมากที่สุดร้อยละ 82.3 โดยมีข้อเสนอแนะจากผู้เข้ารับการอบรมคือ อยากให้มีกิจกรรมเช่นนี้ปีละ 2-3 ครั้งเพื่อความต่อเนื่องและเพิ่มเวลามากขึ้นและอยากเห็นคลินิกตรวจสุขภาพมาบริการที่นี่ควบคู่กันไป นายจุรินทร์ กล่าว ******************************* 23 มกราคม 2554


   
   


View 13    23/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ