รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนที่จ.สุพรรณบุรี ให้อสม.ถามอาการป่วยในคนในหมู่บ้านที่มีเป็ดไก่ตาย แม้ว่าไทยจะไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนมานานกว่า 4 ปีแล้วก็ตาม และให้ทุกจังหวัดย้ำเตือนประชาชนหากพบนกหรือเป็ดไก่ที่เลี้ยงมีอาการซึม ขนยุ่ง หงอนบวม หรือตายผิดปกติ ขอให้สงสัยโรคไข้หวัดนกไว้ก่อน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อสม. ผู้ใหญ่บ้าน อย่านำมาชำแหละขาย หรือแจก เพราะความเสียดายอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้ 

จากกรณีที่มีข่าวไก่เป็ดที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ตายเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มทยอยตายตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจซากสัตว์ปีกจากสถาบันสุขภาพสัตว์ นั้น
เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี เฝ้าระวังการติดเชื้อไข้หวัดนกในคน โดยเฉพาะในพื้นที่อ.ด่านช้าง โดยให้อสม.เคาะประตูบ้านถามอาการป่วยในคนทุกวัน พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อย้ำเตือนให้ประชาชนในจังหวัด ระมัดระวังป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจากสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ไม่สัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือซากสัตว์ปีก หากพบนก เป็ดไก่ มีอาการเซื่องซึมผิดปกติ ขนยุ่ง  หงอนบวม หรือตายผิดปกติ ขอให้สงสัยโรคไข้หวัดนกไว้ก่อน และให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เพื่อนำไปตรวจและทำลายอย่างถูกวิธี อย่านำซากสัตว์ปีกไปทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด แม้ว่าจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในไทยมานานกว่า 4 ปี และไม่มีสัตว์ปีกป่วยตายจากโรคนี้มากว่า 2 ปีแล้วก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันยังพบการระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ จึงมีความเสี่ยงที่โรคนี้หวนกลับมาระบาดซ้ำอีกได้ 
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ประการสำคัญ ประชาชนอย่านำสัตว์ปีกที่กำลังมีอาการป่วยหรือตายแล้ว มาชำแหละเป็นอาหารหรือนำไปจำหน่าย จ่ายแจก เพราะความเสียดายอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อสูงหากสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก และยิ่งช่วงนี้ใกล้จะถึงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะมีการนำเป็ดไก่ไปเซ่นไหว้จำนวนมาก ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดที่เคยมีรายงานพบสัตว์ปีกและคนป่วยตายจากโรคไข้หวัดนกมาก่อน  
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือมีอาการเจ็บป่วยหลังสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย อาการที่สำคัญคือ มีไข้สูง ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก อาจมีอาเจียน ท้องเสียด้วย ต้องรีบไปโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาเร็วที่สุดหรืออย่างช้าภายใน 2 วันหลังมีอาการป่วย  โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ รักษาโรคไข้หวัดนกไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่งและใช้ได้ผลดี รวมทั้งได้มีการฝึกอบรมแพทย์พยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว  
ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่ปี 2546 จนถึง 20 มกราคม 2554 มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อใน 15 ประเทศ ทั้งหมด 518 ราย เสียชีวิต 306 ราย ในปี 2554 มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ 2 ราย จากประเทศอียิปต์ ไม่มีผู้เสียชีวิต
  ********************************* 27 มกราคม 2554


   
   


View 13    27/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ