รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ปัญหาการใช้สารเสพติด ก่อผลกระทบเจ็บป่วยเป็นโรคจิตเพิ่มขึ้น ในปี 2553 มีผู้ป่วยทางจิตเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศกว่า 45,000 ราย ในจำนวนนี้มีสาเหตุมาจากใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน 2,626 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาย ชี้แนะผู้ที่มีความเครียด ควรหาทางออกในทางสร้างสรรค์เช่นออกกำลังกาย จากกรณีที่มีข่าวชายอายุ 23ปี เป็นดีเจสถานบันเทิงย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเกิดอาการคลุ้มคลั่งเผาห้องพักเลขที่ 606 ชั้น 6 อาคาร แมนชั่นสายเป็นสุข ซอยอินทามระ 11 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และยังปีนเข้าไปที่ห้องหมายเลข 608 พร้อมใช้อาวุธมีดจับหญิงสาวเป็นตัวประกัน เหตุเบื้องต้นเกิดจากปัญหาความเครียดที่ถูกภรรยาทิ้งและฤทธิ์ยาเสพติด โดยชายที่ก่อเหตุรับสารภาพว่าก่อนลงมือได้เสพยาไอซ์ ซึ่งผลการตรวจปัสสาวะของชายรายดังกล่าวจากโรงพยาบาลตำรวจพบเป็นสีม่วง แสดงว่ามีการเสพยาไอซ์หรือยาบ้าจริง ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นตัวอย่างของปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติด ที่สังคมไทยจะต้องตระหนักและแก้ไขร่วมกัน ซึ่งแนวโน้มการใช้ยาเสพติดขณะนี้รุนแรงมากขึ้น มีการนำยาเสพติดหลายชนิดมาผสมกัน เช่น ยาบ้าผสมกัญชา รวมทั้งมีการใช้ยาไอซ์ ซึ่งเป็นผลึกบริสุทธิ์ของยาบ้า แต่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าหลายเท่าตัว ที่น่าเป็นห่วงก็คืออายุของผู้เสพสารเสพติดขณะนี้ น้อยลงอยู่ระหว่าง 11-24 ปี จากเดิม 15-24 ปี สำหรับหญิงสาวที่ถูกจับเป็นตัวประกัน กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมจิตแพทย์เข้าไปดูแลสภาพจิตใจแล้ว ส่วนดีเจนั้น จะประสานกับตำรวจเพื่อให้การบำบัดรักษาต่อไป ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า เมื่อเสพยาบ้าเข้าสู่ร่างกาย ในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยา จะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้า การตัดสินใจช้า และผิดพลาด หากใช้ยาบ้าติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศในปี 2553 ซึ่งมีทั้งหมด 45,369 ราย ร้อยละ 68 เป็นชาย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน จำนวน 2,626 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.79 แบ่งเป็นชาย 1,996 ราย หญิง 630 ราย ยาเสพติดที่ใช้อันดับ 1 คือยาบ้า ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอดีต ในการบำบัดรักษาผู้ที่เสพสารเสพติดและมีอาการทางจิต จะมีความยุ่งยากกว่าผู้ที่เสพแต่ยังไม่มีอาการ เนื่องจากสมองจะถูกพิษสารเสพติดทำลายอย่างถาวร ดังนั้นในการป้องกันปัญหา ประชาชนไม่ควรพึ่งสารเสพติดเมื่อมีปัญหาเช่นความเครียด ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดการติดยา ควรหาทางออกที่สร้างสรรค์ เช่น การออกกำลังกาย สามารถลดความเครียดได้ดีมาก และนอนหลับพักผ่อนได้ดียิ่งขึ้น หรืออาจรวมกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมแทนการเสพสารเสพติด ด้านนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดูแลลูกหลานให้ห่างไกลยาเสพติด ผู้ปกครองต้องให้เวลา ปลูกฝังสิ่งดีๆให้ลูก โดยเฉพาะเด็กอายุ 1-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงแรกของชีวิต พูดกับเด็กอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้คำหยาบคายหรือตำหนิดูถูกลูก ฝึกให้ลูกรู้จักการทำตัวเป็นคนดี คนเก่ง เล่นกีฬา ทำงานอดิเรก ควรฝึกให้เด็กมีวินัยตั้งแต่เรื่องกินอยู่ การนอน การเล่น รู้จักการจัดการอารมณ์โกรธ ฝึกทักษะให้เด็กรู้จักการตัดสินใจแก้ปัญหา เริ่มจากปัญหาง่ายๆก่อน และควรเสริมสร้างทักษะให้เด็กรู้จักปฏิเสธให้เป็น ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่วงจรยาเสพติดได้ ********************************* 30 มกราคม 2554


   
   


View 12    30/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ