วันนี้(1 กุมภาพันธ์ 2554)ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และพล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ผบก.ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวการจับยาสัตว์ปลอมผิดกฎหมาย
          นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ร่วมกับ บก.ปคบ.เข้าไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 99/518และ99/508 หมู่บ้านเกษมทรัพย์ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจากการตรวจสอบพบเป็นสถานที่ผลิตยาและขายยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาสัตว์เหล่านี้ได้ส่งขายที่ตลาดจตุจักรและจัดส่งให้กับลูกค้าทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ยังมีการลงโฆษณาทางสื่อต่างๆด้วย ผลจากการตรวจค้นพบตัวยาสำคัญทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่1.กลุ่มยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าพยาธิที่ใช้รักษาโรคสัตว์ต่างๆ เช่น ท้องเสีย บิด ถ่ายพยาธิ เป็นต้น 2.กลุ่มยาฆ่าเชื้อทางผิวหนัง และ 3.ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ 3 ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องขึ้นทะเบียนหรือดำเนินการขออนุญาต
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ของกลางที่ยึดได้ครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นยาสัตว์ผิดกฎหมาย มีมูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ได้แก่ สติกเกอร์ ฉลากยา และวัตถุอันตราย ขวดและกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ แผ่นพับ ใบแทรกเอกสารกำกับยา ซึ่งยังไม่ได้ขออนุญาตการโฆษณาจากอย. ซึ่งได้แจ้งข้อหาทั้งหมด 4 ข้อหา ได้แก่ 1.ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท 2.ผลิตหรือขายยาที่ไม่ได้ ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.โฆษณาขายยา โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาทและ4.ครอบครองวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง หากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ผู้จำหน่ายจะถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ฝากเตือนไปยังผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยาสัตว์ ขอให้ดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะยาไม่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสัตว์ ซึ่งจะต้องคำนึงว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต ควรให้ความสำคัญในการใช้ยาในสัตว์ ในการรักษาโรค บางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีพิษต่อตับ ไต ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท รวมถึงระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแลเช่นเดียวกับดูแลประชาชน นอกจากนี้ขอให้เจ้าของสัตว์ ระมัดระวังในการใช้ยาในสัตว์ ขอให้เลือกใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง หากสัตว์ป่วยต้องได้รับการดูแลจาก             สัตวแพทย์ หรือซื้อยาจะต้องมีใบสั่งยา”นายจุรินทร์ กล่าว
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์  ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.ดูแลยาที่ใช้สำหรับสัตว์ เพราะมีผลกระทบต่อคนด้วย   ยาสัตว์ที่จับได้ครั้งนี้ มีทุกรูปแบบทั้งชนิดฉีด ทา กิน ผสมในอาหาร หลายตัวมีการผสมยาปฏิชีวนะหลายตัว ซึ่งมีความแรง มีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาในสัตว์ได้ในอนาคต   และมียาบางกลุ่มที่สัตว์และคนใช้ในกลุ่มเดียวกันเช่น ยาฆ่าเชื้อกลุ่มนอร์ฟล็อกซาซิน(Norfloxacin)ที่ใช้ในคนและฟลูออโรควิโนโลนส์(Fluoroquinolones)ที่ใช้ในสัตว์ เป็นต้น หากนำมาใช้ในสัตว์อย่างพร่ำเพรื่อ ใช้ไม่ถูกวิธี โอกาสที่เชื้อจะดื้อยาเร็วก็อาจจะเกิดได้   และส่งผลกระทบไปยังเชื้อที่อยู่ข้างนอก เนื่องจากเชื้อบางตัวเป็นเชื้อที่ระบาดและทำให้เกิดโรคทั้งในคนและสัตว์
หากผู้บริโภคท่านใดพบเห็นการผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่คาดว่าจะเป็นอันตราย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชั้น 1 ตึก อย. หรือ              สายด่วน อย. 1556 หรือ  E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข              จ.นนทบุรี หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบการกระทำผิดนั้นๆ นอกจากนี้ สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือตู้ ปณ. 459 ปณศ. สามเสนใน พญาไท กทม. 10400 เพื่อที่ อย. จะได้ร่วมกับ บก.ปคบ. ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
          ..............................     1 กุมภาพันธ์ 2554


   
   


View 13    01/02/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ