สาธารณสุข ควบคุมมาตรฐานระบบความปลอดภัยห้องตรวจปฏิบัติการหรือห้องแล็บ ขณะนี้ได้ให้การรับรองมาตรฐานภาคเอกชนแล้วร้อยละ 60 และให้ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2555 เผยไทยมีห้องแล็บที่สามารถตรวจชันสูตรและเก็บตัวอย่างเชื้อโรคที่มีความรุนแรงระดับ 3 อยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน ไม่มีปัญหาเชื้อโรครั่วไหลออกนอกห้องแล็บ

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2554) ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กทม. นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จาก 43 ประเทศทั่วโลก เรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพของโลก : สู่การปฏิบัติ (Global Biosafety and Biosecurity : Taking Action) จัดโดยองค์กรความปลอดภัยทางชีวภาพนานาชาติ (The International Federation of Biosafety Association) หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล-ออกซ์ฟอร์ด (The Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit) และเครือข่ายความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพแห่งประเทศไทย (The Biosafety and Biosecurity Network of Thailand)เพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพของแต่ละประเทศ
            นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อวงการแพทย์ เนื่องจากในศตวรรษที่ 21 นี้ ทั่วโลกเผชิญปัญหาสุขภาพมากมาย และมีการระบาดของเชื้อโรคตัวใหม่ที่มีความรุนแรงสูงและการหวนกลับมาระบาดของโรคเก่า ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชากรโลก จึงมีความจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจชันสูตรเชื้อโรคและพิษต่างๆ หรือห้องแล็บให้ทันสมัย ได้มาตรฐานทั้งความแม่นยำ ขณะเดียวกันก็จะต้องมีระบบความปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน  และการป้องกันเชื้อโรคหรือพิษไม่ให้มีการรั่วไหลไปสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาด โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มีความรุนแรง รวมทั้งมีการดูแลเชื้อโรคที่นำมาใช้ทดลองในห้องปฏิบัติการ ไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเช่น การนำไปทำอาวุธชีวภาพ ซึ่งในไทยมีกฎหมายควบคุมกำกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ๆ  เช่น พิษจากงู แมลง และปลาปักเป้า พ.ศ. 2525 และฉบับแก้ไข พ.ศ.2544เป็นไปในแนวทางเดียวกับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบ
ในการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะทำหน้าที่คือ 1.ออกใบอนุญาตให้หน่วยงานที่ครอบครองเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ทั้งเพื่อการผลิต จำหน่าย นำเข้าจากต่างประเทศ ส่งออก หรือนำผ่านไปต่างประเทศ และ 2.ควบคุมมาตรฐานห้องแล็บที่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยทำการขึ้นทะเบียนเชื้อโรคอันตรายในห้องแล็บของหน่วยงานภาครัฐ  ตรวจสอบรับรองมาตรฐานระบบความปลอดภัยและออกใบอนุญาตในการครอบครองเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ ของห้องแล็บภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้มีผ่านเกณฑ์แล้ว 532 แห่งหรือประมาณร้อยละ 60 คาดว่าจะครบทุกแห่งภายในปี 2555
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนห้องแล็บของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้นับว่ามีความก้าวหน้ามาก โดยมีห้องแล็บชีวนิรภัยระดับ 3 ที่มีความสามารถเตรียมตัวอย่างเชื้อ ตรวจยืนยัน และดูแลเชื้อโรคที่มีความรุนแรงสูงระดับ 3 เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก เป็นแห่งแรกและเป็นระดับสูงสุดของประเทศ อยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีระบบความปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและไม่มีการรั่วไหลไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยใช้เป็นห้องแล็บอ้างอิงขององค์การอนามัยโลกด้วย  
*************** 15 กุมภาพันธ์ 2554


   
   


View 9    15/02/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ