พบผู้อพยพเกือบ 2,000 ราย เครียด เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 ราย ต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจต่อเนื่อง

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีเหตุปะทะที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้สรุปสถานการณ์ด้านการแพทย์สาธารณสุขจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งได้มีการส่งผู้พักพิงที่ศูนย์พักพิงกลับบ้านแล้วตั้งแต่วันเสาร์        โดยในภาพรวมกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปช่วยดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขใน 3 จังหวัดหลักคือ จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี และ จ. สุรินทร์    ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 9 อำเภอ โดยได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวน 72 หน่วย ให้บริการประชาชน 10,000 ราย ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคทางกาย โดยร้อยละ 36   เป็นโรคทางเดินหายใจ เช่นเป็นไข้หวัด ปวดฟัน ปวดศีรษะ อาเจียน 

สำหรับการดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจ    เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข จะต้องดำเนินการต่อเนื่องหลังจากที่ผู้อพยพกลับบ้านไปแล้ว โดยทีมแพทย์ได้มีการคัดกรองปัญหาสภาพจิตใจจำนวน 4,813 ราย ประกอบด้วยที่ จ.สุรินทร์ 3,010 ราย จ.ศรีสะเกษ 1,803 ราย พบผู้มีภาวะความเครียด 1,964 ราย โดยมีความเครียดระดับมากจำนวน 638 ราย   คิดเป็นร้อยละ 32.48    ในจำนวนนี้พบว่าอาจจะมีภาวะซึมเศร้าด้วยจำนวน 73 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.4 และในจำนวนนี้อาจจะมีความคิดฆ่าตัวตาย 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.6

                    

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่จะต้องส่งตัวไปพบแพทย์รวมทั้งหมด 125 ราย ประกอบด้วยที่ จ.ศรีษะเกษ 88 ราย และ จ.สุรินทร์ 37 ราย   สำหรับที่ จ.ศรีษะเกษ 88 รายนั้น พบว่ามีความวิตกกังวล 19 ราย มีภาวะซึมเศร้า 9 ราย   มีภาวะทางจิตเพราะขาดยา 2 ราย และมีปัญหาการปรับตัว 56 ราย อีก 2 ราย มีปัญหาเรื่องดื่มสุรา
 ส่วนที่ จ.สุรินทร์ 37 ราย พบว่ามีความวิตกกังวล 31 ราย มีภาวะซึมเศร้า 4 ราย มีปัญหาเรื่องการปรับตัว 3 ราย ซึ่งในการติดตามฟื้นฟูสภาพจิตใจจากนี้ไป กระทรวงสาธารณสุขวางแผนดูแลออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป จะให้ อสม.ออกไปเยี่ยมบ้านทุกเดือน ซึ่งได้ประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขทั้ง 3 จังหวัดแล้ว กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่มีความเครียดจากการคัดกรอง จะให้ไปเยี่ยมบ้านทุกสัปดาห์ และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าจากการคัดกรองทางการแพทย์แล้ว อยู่ที่ จ.ศรีษะเกษ 9 ราย และจ.สุรินทร์ 4 ราย จะต้องติดตามเฝ้าระวังและให้คำปรึกษาเป็นพิเศษ รวมทั้งมีการให้ยาด้วย
ทางด้าน นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าผลการตรวจคัดกรองพบว่าเป็นภาวะซึมเศร้า คือยังไม่ได้เป็นโรค เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำการติดตามเยี่ยมทุกอาทิตย์ มีการพูดคุย รับฟังปัญหา แต่กรณีที่มีอาการซึมเศร้าและพบแพทย์แล้ว แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และให้กินยา “ต้านเศร้า” ไปแล้ว ก็จะกลับสู่ระบบการรักษาพยาบาลตามปกติ คือไปพบแพทย์ตามนัด
*********************** 15 กุมภาพันธ์ 2554
 


   
   


View 9    15/02/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ