วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมหารือกับตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจยาสมุนไพรไทย 40 แห่ง เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานยาจากสมุนไพรไทย และเยี่ยมชมโรงงานผลิตยาแผนโบราณ บริษัท คั้นกี่น้ำเต้าทอง กรุงเทพมหานคร ว่า วันนี้เป็นการเริ่มต้นทำงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2554 ตามนโยบาย 21 ข้อที่จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการเดินหน้าดูแลสุขภาพคนไทย ซึ่งในวันนี้ได้พบกับผู้แทนสมาคมยาสมุนไพรไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าโครงการเมดิคอลฮับ ซึ่งจะเดินหน้าใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.สนับสนุนการแพทย์แผนไทย 2.สนับสนุนธุรกิจส่งเสริมสุขภาพ และ3.สนับสนุนยาไทยและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย

          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ผลการหารือ ได้ข้อสรุปว่ากระทรวงสาธารณสุขจะตั้งคณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนภาคเอกชนที่ทำธุรกิจด้านสมุนไพรไทย เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ติดตามงานร่วมกัน โดยได้สั่งการให้เดินหน้าใน 10 ประเด็น คือ 1.การผลิตสมุนไพรในประเทศไทย โดยจะขอความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการทำงาน เน้นการผลิตโดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ 2.จัดตั้งโรงงานผลิตสมุนไพรกลางหรือศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยผลิตยาไทยให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) โดยได้เตรียมจัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวทั้งหมด 840 ล้านบาท   โดยในปีงบประมาณ 2555 เตรียมไว้ 280 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2556 เตรียมไว้ 560 ล้านบาท ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่คลอง 5 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี   
3.การวิจัยถ่ายทอดพัฒนาเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุขจะจัดตลาดนัดผู้วิจัยพบผู้ประกอบการ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดเทคโนโลยี 4.การจัดตั้งศูนย์รับวิเคราะห์และส่งต่อเพื่อควบคุมคุณภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการ 5.การตลาดทั้งในและนอกประเทศ ที่ผ่านมาได้มีการขยายตลาดยาสมุนไพรไทยในประเทศโดยในโครงการรักษาฟรี  48 ล้านคนด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้อนุญาตให้ใช้ยาสมุนไพรไทยจาก 19 รายการ เพิ่มขึ้นอีก 72 รายการ รวมทั้งหมดเป็น 91 รายการ และบรรจุแพทย์แผนไทยในสถานบริการกระทรวงสาธารณสุข 6.การดำเนินการส่งเสริมสมุนไพรแห่งปี โดยจะสนับสนุนให้เกิดสมุนไพรแห่งปีขึ้น และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
          7.การขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหารือกับผู้ประกอบการ 8.การแยกพระราชบัญญัติยาสมุนไพรไทยออกจากยาแผนปัจจุบัน พร้อมได้เตรียมทำประชาพิจารณ์ความคิดเห็นของประชาชน และจะดำเนินการตามแนวทางที่ได้ 9.การจัดตั้งศูนย์เปรียบเทียบมาตรฐานอัตลักษณ์สมุนไพรไทย โดยมอบให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกดำเนินการ และ10.เตรียมรับมือเดินหน้าสู่ประชาคมอาเซียนด้านสมุนไพร ซึ่งในประเด็นนี้จะหารืออีกครั้งในส่วนที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน นายจุรินทร์ กล่าว
 ************************************ 16 กุมภาพันธ์ 2554


   
   


View 9    16/02/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ