ใน 6 ห้างทั่วกรุงเทพฯ พบบิ๊กอายส์ผิดกฎหมาย1,500 ชิ้น ดำเนินคดีสูงสุด 6 ข้อหา   ในรอบ 1 ปีมานี้ ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฯพบวัยรุ่นมีปัญหาหลังใส่บิ๊กอายส์ เข้ารักษาตัวแล้ว 8 ราย   บางรายเกิดแผลที่ตาดำ

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2554) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์ธวัตชัย คงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และพ.ต.อ.กิตติศักดิ์ สุขวัฒน์ธนกุล รองผบก.บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจจับคอนแทคเลนส์บิ๊กอายส์

          นายจุรินทร์กล่าวว่า ทันทีที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้บิ๊กอายส์ ที่ซื้อจากสถานที่ที่จำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประสานงานกับตำรวจ ดำเนินการตรวจสอบสถานที่จำหน่ายที่ผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการอย่างทันท่วงที ปรากฏว่าจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นกับอย. พบแหล่งขายบิ๊กอายส์ที่ผิดกฎหมายหลายแห่ง 

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า เมื่อวานนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2554) เจ้าหน้าที่กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. ดำเนินการตรวจสอบร้านจำหน่ายคอนแทคเลนส์ บิ๊กอายส์ ที่วางขายตามแผงและร้านแว่นตาในห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพมหานคร 6 แห่ง ได้แก่ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต, เดอะมอลล์ บางกะปิ, ซีคอนสแควร์, มาบุญครองเซ็นเตอร์, ศูนย์การค้าตะวันนาบางกะปิ และยูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว รวมทั้งหมด 25 ร้าน พบร้านที่ทำผิด 3 ร้าน รวม 16 รายการ มีของกลางทั้งหมด 1,500ชิ้น มูลค่ารวม 300,000บาท

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบเว็บไซต์ที่โฆษณาขายบิ๊กอายส์ เช่น www.bigeyedd.com,  www.sweetyberry.com, www.nubigeye.com และwww.iiamkorean.comเป็นต้นซึ่งจะต้องดำเนินการตรวจจับ หากพบว่าผิด จะประสานขอความร่วมมือกระทรวงไอซีที ดำเนินการปิดเว็บไซต์ต่อไป

          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ร้านที่กระทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีทั้งหมด 6 ข้อหา ได้แก่ 1.นำเข้าคอนแทคเลนส์ (เลนส์สัมผัส) โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.นำเข้าเลนส์สัมผัสโดยไม่แสดงคำเตือน ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในฉลากหรือเอกสารกำกับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายเลนส์สัมผัสที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ เนื่องจากแสดงฉลากหรือเอกสารกำกับไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.ขายเครื่องมือแพทย์ (เลนส์สัมผัส) ที่กระทรวงสาธารณสุขห้ามขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5.ขายเลนส์สัมผัสที่ผลิตหรือนำเข้าไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ 6.โฆษณาเลนส์สัมผัสโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ    

นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศตั้งแต่ปี 2553 เน้นย้ำให้ผู้นำเข้าเลนส์บิ๊กอายส์จะต้องขออนุญาตจาก อย. โดยจะต้องแสดงชื่อเลนส์ วัสดุ อายุการใช้งาน คำเตือน ข้อห้าม ข้อควรระวังไว้ในฉลากหรือเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ให้ชัดเจน และผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายเฉพาะเลนส์ที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย มีฉลากคำเตือนอย่างถูกต้องเท่านั้น สำหรับการโฆษณาจะต้องได้รับการอนุญาตจาก อย. ปัจจุบันมีบิ๊กอายส์ที่ได้รับอนุญาตแล้วทั้งหมด 40 ยี่ห้อ

 สำหรับการใช้บิ๊กอายส์หรือเลนส์ตาโตนั้น จะต้องปรึกษาจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อใช้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม นอกจากนั้นยังต้องศึกษาถึงวิธีใช้ การเก็บรักษา รวมถึงต้องสังเกตวัน เดือน ปีที่หมดอายุ คำเตือนต่างๆ และเครื่องหมาย อย. ไม่ควรซื้อจากร้านค้าทั่วไป เพราะนำไปใช้แล้วเกิดอันตราย และไม่ถูกวิธี เนื่องจากสินค้าไม่ได้คุณภาพ ทำให้เกิดการแพ้ ติดเชื้อ กระจกตาเป็นแผล อาจทำให้ตาบอด โดยได้สั่งการให้ อย.และสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เฝ้าระวังและดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย

ด้านนายแพทย์ธวัตชัย วงศ์คงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า ตั้งแต่มกราคม 2553 ถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้รับรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากบิ๊กอายส์ ทั้งหมด 8 ราย ทุกรายเป็นวัยรุ่นมีอายุ 13-24 ปี และใส่เพื่อความสวยงาม มีเพียง 1 รายเท่านั้นที่ใส่เพราะสายตาสั้น   ผู้ป่วยทั้งหมดหลังจากที่รักษาแล้ว บางรายจะเกิดแผลเป็นที่แก้วตาดำ ส่งผลในการมองเห็นด้วย สำหรับรายสุดท้ายซึ่งกำลังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลขณะนี้ มีแผลเป็นเกิดขึ้นที่บริเวณตาดำเช่นเดียวกับรายอื่น

 ****************************** 17 กุมภาพันธ์ 2554
 
 


   
   


View 9    17/02/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ