วันนี้ (23กุมภาพันธ์ 2554)  นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข  ร่วมประชุมกับผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ที่บริษัท ซี วี พี เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี

            นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลการหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทยและสมาคมอุตสาหกรรมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่ทางสมาคมฯต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุน มี 5 ประเด็น    ประเด็นที่ 1.การปรับปรุงหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการผลิตเครื่องมือแพทย์ในไทยให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น สามารถเอื้อให้ผู้ผลิตในไทยแข่งขันกับเครื่องมือแพทย์ในต่างประเทศได้  2.การสนับสนุนให้มีห้องปฎิบัติการกลางหรือห้องแล็ป  เพื่อให้บริการผู้ผลิต ในการตรวจสอบวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งที่ผลิตหรือนำเข้ามาในการประกอบการผลิตเป็นเครื่องมือแพทย์

             3.การให้คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ เป็นกลไกสำคัญในการช่วยประสานงานร่วมภาคเอกชนและกลไกภาครัฐ ในการวิจัยพัฒนาเครื่องมือแพทย์ เช่น การวิจัยในคน เพราะภาคเอกชนอย่างเดียว หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ก็ยากที่จะทำการวิจัยสำเร็จ  4.ภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนที่จะมาผลิตเครื่องมือแพทย์ ที่มีความเห็นว่ายังสูงเกินไป และเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับเครื่องมือแพทย์ต่างประเทศได้ เพราะอยู่ในระดับร้อยละ 10-45 อยากให้ลดลงมา ซึ่งกรรมการเครื่องมือแพทย์จะรับไปในการพิจารณาหารือร่วมกับกรมศุลกากรต่อไป

            5.การเตรียมการรองรับการเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่กำหนดในปี 2015 ซึ่งกลไกหลักเกณฑ์ต่างๆ มีผลกระทบกับการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย โดยกำหนดว่าทันที่ที่เข้าสู่ประชาคมอาเซียน โรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด ต้องได้ไอเอสโอ 13485  ซึ่งขณะนี้มีโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ 300 กว่าแห่ง  ได้มาตรฐานไอเอสโอ 13485 ประมาณ 50 แห่ง ที่เหลืออีก 200 กว่าแห่งต้องเร่งรัดดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถผลิตออกมาจำหน่ายในประชาคมอาเซียนได้  โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม จะจัดอบรมเพื่อเตรียมการเดินหน้าไปสู่การได้รับ ไอเอสโอ 13485 ให้ได้ทันเวลาต่อไป

          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ที่มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน  และมีสำนักงานคณะกรรมการเป็นเลขาฯดำเนินการตามแนวทาง 5 ข้อ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทย ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

          นอกจากนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมถุงมือยาง มีประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหา 2 ข้อ คือ ความไม่แน่นอนของราคายาง มีผลต่อต้นทุนการผลิต  และต้นทุนด้านเชื้อเพลิงหากมีการลอยตัวก๊าซแอลพีจี นายจุรินทร์กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องเร่งรัด พรบ.การยางแห่งประเทศไทย ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้มีกลไกในการดูแลเรื่องยางทั้งระบบอย่างเป็นเอกภาพ ทั้งผู้ผลิต อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งถุงมือยางต่อไป

           ทั้งนี้  ปัจจุบันมีผู้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ ขึ้นทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประมาณ 1,700 ราย เป็นผู้ผลิตในประเทศ ประมาณ 300 กว่าราย มูลค่าการจำหน่ายในประเทศ 800 ล้านดอลลาร์ ต่างประเทศ 973 ล้านดอลลาร์ 

           ******************************** 23 กุมภาพันธ์ 2554



   
   


View 9    23/02/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ