วันนี้ (23กุมภาพันธ์ 2554)  นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่กรมบัญชีกลางเปลี่ยนเกณฑ์การให้ยาข้อเข่าเสื่อม 4 รายการ ที่ใช้ในระบบสวัสดิการข้าราชการ และได้มอบให้อธิบดีกรมการแพทย์พิจารณา ซึ่งได้ให้ความเห็นเบื้องต้นและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาแล้ว      ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รายงานว่า ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประธานราชวิทยาลัย นายกสมาคมนายกสภา เลขาธิการสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคข้อและกระดูก รวมทั้งคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและผู้อำนวยโรงพยาบาลเลิดสิน เข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็น

            นายจุรินทร์กล่าวว่า ผลการพิจารณาได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ยากลูโคซามีนซัลเฟตและยาอื่นๆ ในกลุ่ม ซิสซาเดา ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยังมีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการที่เชื่อถือได้ ทั้งประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัย   ขณะนี้ผู้ผลิตยากลูโคซามีนซัลเฟตที่ขึ้นทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 131 ตำรับ  44 บริษัท  มีราคาแตกต่างกัน ตั้งแต่ 360 บาท ถึง 1,100 บาท ต่อเดือนในการรักษาผู้ป่วย 1 คน  และมียาในรูปแบบแคปซูล ที่ราคาถูก 300 บาทต่อเดือน โดยยาทุกรายการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตขึ้นทะเบียน  ถือว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาทั้งหมด  แต่ราคาแตกต่างกัน ทั้งหมดนี้กระทรวงสาธารณสุขจะส่งให้กรมบัญชีกลางไปประกอบการพิจารณาต่อไป  ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรมบัญชีกลาง ว่าจะพิจารณาว่าอย่างไร

            ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ประเด็นการขอขึ้นทะเบียนกลูโคซามีนเป็นยาหรืออาหารเสริมนั้น ในต่างประเทศมีการขอขึ้นทะเบียนทั้ง 2 รูปแบบ แต่ในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนเป็นยา 20 กว่าปีแล้ว  จนถึงวันนี้มี 131 ตำรับ  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเห็นว่าเหมาะสมและควบคุมได้   ถ้าขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริมจะวางขายได้ทั่วไป จะมีปัญหาในการควบคุมการใช้และการโฆษณาส่งเสริมการขาย   ส่วนเกณฑ์การที่จะพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นยาหรืออาหารเสริมนั้น ยกตัวอย่างเช่น วิตามิน จะดูตามปริมาณความต้องการต่อวัน  ถ้าเป็นยารักษาปริมาณต้องสูงกว่าปริมาณความต้องการต่อวัน  ถ้าเป็นอาหารเสริม จะใช้ในปริมาณแค่ทดแทนในส่วนที่ขาด

            ส่วนกรณีที่มีข้อมูลด้านการรักษาออกมา 2 ด้าน ทั้งยืนยันและไม่ยืนยัน แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการเลือกใช้ยา เพราะยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมีมาก ไม่ได้มียาตัวนี้ตัวเดียว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะจัดให้เหมาะสมกับการเจ็บป่วย โดยประสิทธิภาพการรักษา  ความก้าวหน้าของการรักษา ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยเฉพาะตำรับที่ขอขึ้นทะเบียนเท่านั้น

            ***************************************** 23 กุมภาพันธ์2554

 



   
   


View 9    23/02/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ