รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายสร้างเมืองสุขภาพดี บนวิถีไทย โดยระดมพลังภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่มีในท้องถิ่น ทั้งหมอพื้นบ้าน ยาไทย สมุนไพรไทย มาใช้ดูแลสุขภาพตั้งแต่เป็นอาหารการกิน เพื่อป้องกันการป่วย จนถึงการดูแลหลังเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง ใช้งบ 5 ล้านบาท นำร่องปีนี้ ที่ราชบุรี   สุโขทัย ขอนแก่น จันทบุรี และพังงา

          วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2554) ดร.พรรณสิริกุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานโครงการ ราชบุรีสุขภาพดี บนวิถีไทย ที่โรงพยาบาลดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เพื่อสร้างกระแสการนำภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยที่มีในแต่ละท้องถิ่น ยาไทย สมุนไพรไทย มาใช้ในการดูแลสุขภาพ รักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชน ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น การสาธิตการทำน้ำว่านหางจระเข้เพื่อสุขภาพ อาหารสร้างสุขภาพ 8 ชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี การกินอาหารตามธาตุเจ้าเรือนของ รพ.โพธาราม บริการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลราชบุรี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การตอกเส้นแก้ปวดเมื่อย การสาธิตการทำลูกประคบบรรเทาอาการอักเสบ การนวดคลายเครียด การนวดจัดกระดูกบรรเทาอาการปวดหลัง ลานกะลานวดเท้า การใช้พลังบำบัดโอกาดะ
                 
                 
                 
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า นโยบายที่สำคัญที่จะดำเนินการในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการเมืองสุขภาพดี วิถีไทย ซึ่งจะระดมพลังระบบการแพทย์แผนไทยที่มีในท้องถิ่นทั่วประเทศ ประกอบด้วย หมอพื้นบ้าน สมุนไพร ยาไทย อาหารพื้นบ้านไทยดั้งเดิม มาใช้ดูแลสุขภาพให้เป็นวิถีชีวิตที่เคยชินไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยโดยเฉพาะการป่วยจากโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ และใช้การแพทย์แผนไทยบำบัดรักษาเมื่อเจ็บป่วย
                                  
  
ในโครงการดังกล่าวจะมีการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยหลัก 8 อ.ประกอบด้วย อิริยาบถ อาหาร อากาศ อโรคยา อาจิณ อุเบกขา อุดมปัญญา และอาชีพ การสร้างเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้าน การฟื้นฟูองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การต่อยอดภูมิปัญญาไทยโดยจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นศึกษา การจัดทำห้องสมุดดิจิตอลด้านภูมิปัญญาไทย การพัฒนาตำรับยาสมุนไพร การผลิตสมุนไพร การพัฒนา นวตกรรมดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบัน การปลูกและผลิตวัตถุดิบเข้าสู่ระบบวิสาหกิจชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชื่อมโยงกับการบริการสุขภาพแผนไทย การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เชื่อมโยงทรัพยากรป่าสมุนไพร ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท ในปีนี้นำร่อง 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ขอนแก่น ราชบุรี จันทบุรี และพังงา และในปี 2555 ได้ตั้งงบประมาณไว้ 40.6 ล้านบาท ปี 2556 ตั้งงบไว้ 102.6 ล้านบาท
  
  
 ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ คนไทยมีปัญหาเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังกันมากขึ้น ที่พบมาก 5 โรคได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคถุงลมปอดโป่งพอง ในปี 2551 มีผู้ป่วยเบาหวานเข้ารักษาในโรงพยาบาล 44 จังหวัดทั่วประเทศทั้งหมด 645,620 ราย โดยผู้หญิงป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่าตัว และพบคนอายุน้อยกว่า 40 ปีมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น ส่วนโรคความดันโลหิตสูงพบมีคนป่วย 1 ล้านกว่าราย และยังมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงผิดปกติโดยยังไม่รู้ตัว 2 ล้านกว่าคน ต้นเหตุของโรคเหล่านี้เกิดมาจากพฤติกรรมทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย ความเครียด ซึ่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวยอมรับว่าหลักการแพทย์ดั้งเดิมซึ่งประกอบด้วยเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ การใช้ยาสมุนไพร จะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจากโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อได้     
                                            ***************** 24 กุมภาพันธ์ 2554


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ