รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชาวมาบตาพุด ติดตามผลกระทบสุขภาพจากมลพิษ หลังพบอัตราป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงกว่าระดับประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราป่วยโรคเนื้องอกและมะเร็ง เด็กพิการ และโครโมโซมผิดปกติแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในรอบ 8 ปี เร่งแก้ไขปัญหาโดยตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัยหาสาเหตุการป่วยโดยเร็ว และวางแผนย้ายรพ.มาบตาพุดออกนอกพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย วันนี้ (1 มีนาคม 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิตย์ ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์บุญเลิศ ลิ้มทองกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วิวัฒน์ วิริยกิจจา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง และผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมอนามัย ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง พบปะแกนนำเครือข่ายประชาชน รับฟังปัญหาและผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม และตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลมาบตาพุด เพื่อรับฟังผลกระทบจากอุตสาหกรรมต่อบริการสุขภาพ นายแพทย์มงคลกล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ต้องการมาศึกษาสภาพปัญหา ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนในพื้นที่รอบๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ใช้งานมาเป็นเวลาเกือบ 25 ปี เพื่อวางแผนแก้ไขในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน จากการตรวจสอบตัวอย่างอากาศที่มาบตาพุดโดยกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2548 อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง พบก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงงาน และสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด สารเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง เยื่อบุทางเดินหายใจ ระบบตับ ไต ระบบเลือด ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ในจำนวนนี้มี 20 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น ไตรคลอเอทธีลีน ไวนิลคลอไรด์ และเบนซีน ซึ่งเกือบทั้งหมดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา และตรวจพบโลหะหนักในน้ำผิวดิน เช่น แคดเมียมเกินมาตรฐาน 6 เท่า เหล็กเกินมาตรฐาน 151 เท่า ตะกั่วเกินมาตรฐาน 47 เท่า ชี้ให้เห็นว่าระบบการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีหรือสารระเหยต่างๆ ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้มาตรฐานดีพอ ดังนั้นจึงต้องศึกษาผลกระทบนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก 27 นิคม ใน 13 จังหวัดเช่นกัน เพื่อเร่งป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในจังหวัดระยอง ซึ่งมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 566,543 คน ประชากรแฝงประมาณ 200,000 คน มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 7 นิคม รวมกว่า 370 โรงงาน พบสัญญาณอันตรายบ่งชี้หลายประการ โดยมีอัตราป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจสูงถึง 696 คนในประชาชน 1,000 คน ซึ่งสูงกว่าระดับประเทศที่เฉลี่ย 400 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้น สถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิดและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเขตอ.เมืองระยองในปี 2540–2544 สูงที่สุดในจังหวัด ประเด็นที่น่าห่วงคืออัตราผู้ป่วยโรคเนื้องอกและมะเร็งในรอบ 8 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จากที่พบ 444 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2540 เพิ่มเป็น 1,264 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2548 ขณะเดียวกันพบเด็กแรกเกิดพิการ รูปร่างผิดปกติ และมีโครโมโซมผิดปกติ เพิ่มกว่า 3 เท่าตัว จากปี 2540 พบแสนละ 48 คนเพิ่มเป็นแสนละ 164 คนในปี 2548 แปลว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจมาจากภัยของสารเคมีปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จะต้องศึกษาวิจัยหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศคือ 72 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 11 เท่า นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ในการบรรเทาปัญหาเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตรวจรักษาประชาชนในชุมชนมาบตาพุดฟรีทุกเดือน พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับอุบัติภัยสารเคมีระหว่างโรงพยาบาลมาบตาพุดกับโรงพยาบาลระยอง ขณะนี้ปัญหายังมีไม่มาก สำหรับโรงพยาบาลมาบตาพุด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง อยู่ติดกับบริษัทเจนโก้ ที่รับกำจัดสารพิษจากอุตสาหกรรม ได้วางแผนจะย้ายออกนอกพื้นที่ โดยอาจจะเปลี่ยนที่กับศูนย์โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม บริเวณตรงข้ามศาลากลางจังหวัดระยอง เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยและเจ้าหน้าที่มีความปลอดภัย และจะพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ แห่งแรกของประเทศไทย ใช้งบก่อสร้างปรับปรุงสถานที่ประมาณ 40 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2551 ในส่วนกลางได้จัดตั้งวอร์ รูม ที่กองสุขาภิบาลชุมชน กรมอนามัย หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-4347 และ0-2590-4354 เป็นศูนย์ประสานงานติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบสุขภาพจากมลพิษ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ทันต่อเหตุการณ์ และตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อม 1 ชุด ประกอบด้วยหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขและรองปลัดฯ เป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดทำแผนบูรณาการด้านสาธารณสุขในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังด้านสุขภาพของประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม จะประชุมทำแผนในต้นเดือนมีนาคมนี้ ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำแผนการเฝ้าระวังโรคและบริการสุขภาพในพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งมี 34 นิคมใน 14 จังหวัด จัดแผนพัฒนาระบบข้อมูลศึกษาวิจัยด้านสุขภาพอนามัย โดยกรมควบคุมโรคร่วมกับอนุกรรมการศึกษาความสัมพันธ์ของสุขภาพอนามัยกับปริมาณของสารระเหยในพื้นที่มาบตาพุด มีนายปริญญา นุตาลัย เป็นประธานคณะ เพื่อศึกษาโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อ โรคระบบประสาท ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และวิจัยพัฒนาการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนจากอุตสาหกรรม ********************************** 1 มีนาคม 2550


   
   


View 8    01/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ